ผ่อนรถไม่ไหว ทำอย่างไรดี 4 ทางออกที่คนมี “รถ” ควรรู้

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ผ่อนรถไม่ไหว ทำอย่างไรดี 4 ทางออกที่คนมี “รถ” ควรรู้

Date Time: 15 ธ.ค. 2566 09:59 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • แน่นอนว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังไม่สู้ดีนัก ประกอบกับหนี้ครัวเรือนยังพุ่งสูงขึ้น ทำให้รายได้ของคนส่วนใหญ่ยังใช้จ่ายได้ไม่เต็มมือ ดังนั้นหนึ่งในปัญหาตัวยงที่หลายคนจะต้องเจอนั่นคือ "สินเชื่อรถ" นั่นเอง กระนั้นเมื่อถึงเวลาจวนตัว เงินไม่พอจ่าย ผ่อนรถไม่ไหว จะทำอย่างไรดี #Thairath Money มี 4 ทางออกที่คนมีรถควรต้องรู้มาฝากกัน

Latest


สถานการณ์ของหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง โดยในไตรมาส 2/66 สูงถึง 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ระบุว่า ไตรมาส 3 ปี 66 พบว่าหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสีย (NPL) ทั้งสิ้น 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.7% ของสินเชื่อรวม คิดเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล 10 ล้านบัญชี

และหนึ่งในนั้นคือปัญหาของหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากไตรมาส 3/66 พบว่า หนี้เสียรถยนต์มีมากถึง 694,088 บัญชี เพิ่มขึ้น 8.6% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่ารวม 2.07 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงสภาพคล่องของ “คนไทย” ด้านการบริหารจัดการ “ค่างวดรถ” และที่พบส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่ม Gen Y ที่มีจำนวนบัญชีหนี้ค้างชำระมากกว่าทุกกลุ่ม รองลงมาคือกลุ่ม Gen X

ดังนั้นหากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าเริ่ม “ผ่อนรถไม่ไหว” จะกลับตัวก็ไม่ได้ จะให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตั้งสติให้มั่นแล้วคิดหาทางออก ซึ่งมีให้เลือกหลายทางตามความเหมาะสมของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น ขายดาวน์รถให้กับคนอื่น คืนรถให้ไฟแนนซ์ และรีไฟแนนซ์ เพื่อลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่องวด และวิธีสุดท้ายคือเจรจาขอผ่อนผันนั่นเอง

เมื่อรถเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้ แต่ “ผ่อนไม่ไหว ทำไงดี?”

1. รีไฟแนนซ์รถยนต์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่

วิธีแก้ไขปัญหาผ่อนรถยนต์ไม่ไหววิธีการแรกเลยก็คือ “การรีไฟแนนซ์รถยนต์” ซึ่งวิธีการนี้ควรรีบดำเนินการก่อนที่คุณจะเริ่มค้างชำระ เพื่อรักษาประวัติเครดิตในการผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ โดยอาจขอรีไฟแนนซ์กับไฟแนนซ์เดิม หรือรีไฟแนนซ์ไปไฟแนนซ์ใหม่ก็ได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการรีไฟแนนซ์ คือ “ลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่องวดลง” ดังนั้นการรีไฟแนนซ์จะช่วยทำให้มีเงินมาชำระค่างวดรถได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น หรือแม้จะเป็นการกู้จากที่ใหม่มาโปะที่เก่าก็ตาม 

เนื่องจากการรีไฟแนนซ์รถยนต์คุณจะได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลงและมีระยะเวลาในการผ่อนชำระที่นานขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่าการรีไฟแนนซ์คือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ ที่จะช่วยทำให้คุณไม่ต้องโดนยึดรถ แถมไม่ต้องเสียเครดิตเรื่องค้างชำระค่างวดรถอีกด้วย ซึ่งก็เหมือนกับการ “รีไฟแนนซ์บ้าน หรือ คอนโด” นั่นเอง

2. “เจรจาประนอมหนี้” ทางออกดีๆ ที่ลูกหนี้ควรรู้

การประนอมหนี้ เจรจาผ่อนผัน หรือ พักหนี้กับทางสถาบันการเงิน เป็นอีกหนึ่งในทางออกหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ตามข้อตกลงเดิมได้ โดยเป็นการเจรจาข้อตกลงเรื่องหนี้สินกับเจ้าหนี้ เช่น ลดหย่อน ผ่อนผัน หรือเปลี่ยนข้อตกลง ซึ่งส่วนใหญ่การประนอมหนี้ เหมาะกับลูกหนี้ที่มีภาระหนี้ไม่เยอะ และมั่นใจว่าจะผ่อนไหวจนหมดเท่านั้น หรือเป็นมาตรการเยียวยาลูกหนี้ (ชั้นดี)

ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้ตามปกติ เช่น ให้ลูกหนี้ชำระเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยไปก่อนแต่ยังคงเงินต้นไว้ หรือ ปรับลดค่างวดรถ ยืดระยะเวลาในการผ่อนรถออกไป เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อคุณรู้ตัวแล้วว่าผ่อนรถไม่ไหว ให้รีบติดต่อไปเจรจาตรงๆ กับเจ้าหนี้ให้ไวที่สุด อย่าค้างค่างวดรถเป็นอันขาด

3. ขายดาวน์และเปลี่ยนสัญญาผู้ซื้อ

การขายดาวน์รถยนต์ต่อไปให้กับคนอื่น จะช่วยทำให้ผู้ที่มีปัญหาผ่อนรถต่อไม่ไหวไม่ต้องติดหนี้และเสียประวัติในการผ่อนชำระ เนื่องจากผู้เช่าซื้อรถคนใหม่ จะรับหน้าที่ในการผ่อนชำระค่างวดรถต่อจากนั่นเอง จากนั้นก็หารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ราคาถูกลงมาใช้ หรืออาจเปลี่ยนไปใช้รถโดยสารสาธารณะแทนในช่วงที่ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง 

ทั้งนี้ผู้ซื้อจะจ่ายเงินดาวน์ให้ในราคาที่ตกลงกันไว้ จึงไม่ต้องกลัวไฟแนนซ์จะมายึดรถเพราะค้างชำระค่างวด ซึ่งมีทั้งนำเงินก้อนมาชำระค่ารถให้กับผู้ขายตามที่ตกลงกัน รวมทั้งปิดยอดเช่าซื้อที่เหลือทั้งหมดกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อหรือไฟแนนซ์ในคราวเดียว หรือจะเป็น ชำระค่ารถให้กับผู้ขาย ไม่มีเงินก้อนมาปิด และต้องการผ่อนต่อกับไฟแนนซ์ หลังจากนั้นให้คุณยื่นเรื่องขอเปลี่ยนชื่อผู้เช่าซื้อรถยนต์กับทางสถาบันการเงิน ไฟแนนซ์หรือลีสซิ่งเพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ซื้อรายใหม่ และถ้าหากคุณสมบัติของผู้ซื้อไม่ติดปัญหาอะไร ก็สามารถดำเนินการเปลี่ยนสัญญาผู้ซื้อได้เลย 

4. คืนรถยนต์

คืนรถยนต์ให้กับสถาบันการเงิน หรือ ไฟแนนซ์ ที่เป็นเจ้าหนี้ โดยนำรถที่อยู่ในสภาพใช้การได้ดีกลับไปคืนไฟแนนซ์ และจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่จนถึงวันที่คืนรถทั้งหมด เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการที่ไฟแนนซ์เอารถไปขายต่อแล้วได้ราคาต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา ดังนั้นเมื่อไหร่ที่รู้ตัวว่าผ่อนรถต่อไม่ไหวแล้ว ก็สามารถนำรถยนต์ไปคืนกับทางเจ้าหนี้ได้เลยทันที (สัญญาเช่าซื้อรถยนต์จะมีลักษณะพิเศษคือ ผู้เช่าซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทุกเมื่อ) แต่ทั้งนี้คุณต้องไม่ค้างค่างวดใดๆ ทั้งสิ้น

อ้างอิง Autospinnsetinvestnow

ติดตามข่าวสารด้านการลงทุนและการทริกในการบริหารเงิน กับ Thairath Money ได้ที่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์