ภูมิทัศน์ภาคการเงินสำหรับอนาคต

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ภูมิทัศน์ภาคการเงินสำหรับอนาคต

Date Time: 9 ธ.ค. 2566 05:55 น.

Summary

  • หัวใจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพร้อมสำหรับอนาคต คือ การดูแลให้เศรษฐกิจไทยมี resilience หรือมีความทนทาน ยืดหยุ่น หากล้มแล้วก็ลุกได้เร็ว ซึ่งประกอบด้วยการมีเสถียรภาพ มีภูมิคุ้มกัน และเติบโตได้ในกระแสโลกใหม่ นอกจากการมี resilience แล้ว

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

หัวใจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพร้อมสำหรับอนาคต คือ การดูแลให้เศรษฐกิจไทยมี resilience หรือมีความทนทาน ยืดหยุ่น หากล้มแล้วก็ลุกได้เร็ว ซึ่งประกอบด้วยการมีเสถียรภาพ มีภูมิคุ้มกัน และเติบโตได้ในกระแสโลกใหม่ นอกจากการมี resilience แล้ว ภาคการเงินไทยจำเป็นต้องปรับเพื่อให้พร้อมสำหรับอนาคต บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอเล่าประเด็นดังกล่าวให้กับท่านผู้อ่านค่ะ

ในต้นปี 2565 แบงก์ชาติได้สื่อสารแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย โดยยึดหลักคิด การสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง สนับสนุนให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลและเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่าน 1.การเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล 2. สนับสนุนให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวได้อย่างยั่งยืน และ 3. การกำกับอย่างยืดหยุ่น เสี่ยงมากก็กำกับมาก เสี่ยงน้อยก็กำกับน้อย

เพื่อให้เห็นภาพที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ขอยก 3 ตัวอย่างของภูมิทัศน์ภาคการเงินในอนาคตที่จับต้องได้ ตัวอย่างแรก ด้านการชำระเงิน โจทย์ในระยะข้างหน้า คือ การลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นผ่านช่องทางดิจิทัลหรือเงินสด เพื่อเอื้อให้เกิดโอกาสใหม่ๆได้ การที่จะทำให้ต้นทุนลดลงก็ต้องทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนหันไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เพราะเงินสดมีต้นทุนสูงกว่า ปัจจุบันคนไทยหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลในการชำระเงินมากขึ้น แต่ยังเพิ่มขึ้นได้อีก เพราะคนไทยยังใช้เงินสดสูงราว 60% ของมูลค่าธุรกรรมทั้งหมด แม้จะมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ทุกฝ่ายยังจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้ดิจิทัลให้มากขึ้นทั้งการชำระเงินทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเงินสดจะหายไป เพราะเงินสดยังมีความจำเป็นสำหรับคนในพื้นที่ห่างไกล แต่ก็ต้องลดต้นทุนเงินสด เช่น ใช้ให้น้อยลง หรือเปลี่ยนแบงก์กระดาษเป็นโพลิเมอร์ที่มีความทนทานขึ้น

ตัวอย่างที่ 2 การปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งไทยมีเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 หรือ พ.ศ.2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065 สำหรับภาคการเงิน โจทย์สำคัญ คือ การช่วยให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้ โดยมีอุปสรรคและต้นทุนน้อยที่สุด ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ดำเนินการในด้านต่างๆพอสมควร ทั้งออกกฎระเบียบ เกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้แบงก์ต่างๆ คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานมากขึ้น รวมถึงออก taxonomy เป็นไม้บรรทัดวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เปรียบเทียบกันได้ แต่สิ่งที่ขาดอยู่ คือ ผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืนได้ง่ายขึ้น โดยแบงก์ชาติกำลังหารือกับแบงก์ในเรื่องนี้

ตัวอย่างสุดท้าย คือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ จากเดิมหากเราต้องการจะกู้เงิน ต้องรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบกระดาษ และหากไม่ใช่คนที่มีรายได้ประจำ การหาเอกสารแสดงรายได้ก็ทำได้ยาก รวมถึงแบงก์เองก็ใช้เวลาพิจารณาสินเชื่อนาน เพราะต้องนำข้อมูลเข้าระบบ และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แต่สิ่งที่อยากเห็น คือ ข้อมูลแหล่งอื่นๆ เช่น ดิจิทัลฟุตพริ้นต์ ที่เกิดในโลกออนไลน์ สามารถนำมาใช้ขอสินเชื่อได้ โจทย์สำคัญ คือ ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์จากการใช้สิทธิส่งหรือเปิดเผยข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวก ปลอดภัย เพื่อรับบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์มากขึ้น หน้าที่ของแบงก์ชาติต้องออกกฎระเบียบ มีเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดการใช้สิทธิส่งข้อมูล มีมาตรฐานกลางในการเก็บและรับส่งข้อมูลที่ปลอดภัย และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้ให้บริการมาเชื่อมต่อได้

ท้ายสุดนี้ ตัวอย่างภูมิทัศน์ภาคการเงินในอนาคตข้างต้นไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการขับเคลื่อนของแบงก์ชาติหรือภาคการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนด้วยค่ะ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ