ไฟเขียวลดหย่อนภาษี 5 หมื่น ครม.สั่งเงียบ! หวั่นคนหยุดใช้จ่ายปลายปี

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไฟเขียวลดหย่อนภาษี 5 หมื่น ครม.สั่งเงียบ! หวั่นคนหยุดใช้จ่ายปลายปี

Date Time: 5 ธ.ค. 2566 06:30 น.

Summary

  • ครม.ไฟเขียวมาตรการ “Easy E–Receipt” นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ ตั้งแต่ 1 ม.ค.–15 ก.พ.67 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท แต่กังวลคนหยุดใช้จ่ายปลายปี สั่งสำนักโฆษกฯ งดแถลงข่าวให้คนรับรู้ เปิดผู้ประกอบการลงทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร จังหวัดหนองบัวลำภู มีมติเห็นชอบมาตรการ “Easy E-Receipt” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยจะให้ผู้ที่สนใจร่วมโครงการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี มูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.67 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.ยังกำหนดให้เรื่องนี้เป็นชั้นความลับ โดยไม่ให้สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวเรื่องนี้ เพราะกังวลว่าคนหยุดการใช้จ่ายช่วงปลายปีนี้และรอใช้จ่ายในต้นปีหน้าแทน

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรายละเอียด คือ 1.กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67-15 ก.พ.67 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ คือ ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องได้รับใบรับในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร

2.ค่าสินค้าหรือค่าบริการที่สามารถหักลดหย่อนได้ จะไม่รวมค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์และเรือ ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่าสาธารณูป โภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเตอร์เน็ต และค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค.67 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ.67 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค.67-15 ก.พ.67 และค่าเบี้ยประกัน วินาศภัย ทั้งนี้ผู้ประกอบการนิติบุคคล (ไม่จำกัดรายได้) สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice & e-Receipt โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ https://etax.rd.go.th สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice by Email 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การลดหย่อนภาษี 50,000 บาท จะได้รับเงินภาษีเท่าใดขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นๆ จ่ายภาษีในอัตราใด โดยหากเป็นผู้ที่เสียภาษีอยู่อัตราสูงสุดที่ 35% ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ปีละมากกว่า 5 ล้านบาท กรณีใช้สิทธิลดหย่อนเต็มที่ 50,000 บาท ก็จะได้เงินคืนภาษีสูงสุดถึง 17,500 บาท แต่หากใช้สิทธิลดหย่อนแค่ 10,000 บาท ก็จะได้คืนภาษี 3,500 บาท ขณะที่ผู้เสียภาษีในอัตรา 20% หรือเป็นผู้มีรายได้ปีละ 750,000-1,000,000 บาท กรณีใช้สิทธิลดหย่อนเต็มที่ 50,000 บาท จะได้เงินคืนภาษีสูงสุด 10,000 บาท แต่หากใช้สิทธิลดหย่อนแค่ 10,000 บาท ก็จะได้คืนภาษี 2,000 บาท ส่วนผู้ที่เสียภาษีในอัตราต่ำสุดที่ 5% หรือเป็นผู้มีรายได้ปีละ 150,000 -300,000 บาท จะได้เงินคืนภาษีสูงสุด 2,500 บาท หากใช้สิทธิลดหย่อนเต็มเพดานที่ 50,000 บาท และจะได้เงินคืน 500 บาท หากใช้สิทธิลดหย่อนเพียง 10,000 บาท จะได้เงินคืน 500 บาท เป็นต้น.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ