นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เนื่องจากในอดีตตั้งแต่ปี 2534 จ่ายเช็คแล้วเด้งมีโทษติดคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยล่าสุดกระทรวงยุติธรรมได้เสนอให้ยกเลิกกฎหมายเดิมทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำกฎหมายเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายเท่าที่จำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนและกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงจริงๆ
นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และสอดคล้องกับข้อ 11 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุกได้เพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิได้ โดยข้อตกลงระดับนานาชาติหลายอย่างมีหลักการว่า การไม่สามารถขึ้นเงินเช็คได้ความผิดควรจะเป็นความผิดแค่ทางแพ่ง ไม่ควรจะถึงขั้นต้องติดคุก
อย่างไรก็ตาม ครม.ได้ให้กระทรวงยุติธรรมรับข้อสังเกตของสมาคมธนาคารไทยไปหาวิธีหรือมาตรการในการปฏิบัติควบคู่ไปด้วย โดยสมาคมธนาคารไทยเห็นด้วยที่บุคคลที่ปฏิบัติผิดไม่สมควรรับโทษทางอาญา แต่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับ เนื่องจากปกติการฟ้องทางแพ่งอย่างเดียวต้องใช้เวลานานกว่าจะเรียกเงินคืนได้ และไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ หากยกเลิกไปเฉยๆเจ้าหนี้จะมีปัญหา จึงเสนอให้มีการกำหนดโทษทางอาญา สำหรับผู้ที่เจตนาออกเช็คโดยไม่สุจริต โดยให้แยกระหว่างคนที่ออกเช็คไปแต่เงินหมุนไม่ทันจริงๆเพื่อเป็นการคุ้มครองเจ้าหนี้ หรืออย่างน้อยควรให้มีมาตรการคู่ขนาน เช่น ถ้าเกิดกรณีเช็คเด้งให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลไปที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นๆได้ข้อมูลไปประกอบว่าต่อไปนี้บุคคลดังกล่าวที่จ่ายเช็คเด้งจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เช็คได้อีก หรือกำหนดค่าปรับให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า พร้อมห้ามบุคคลนั้นไม่ให้สามารถใช้เช็คได้เป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่