มาตรการทางการเงินช่วยแรงงาน รัฐบาลดึงคนไทยกลับจากอิสราเอล

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มาตรการทางการเงินช่วยแรงงาน รัฐบาลดึงคนไทยกลับจากอิสราเอล

Date Time: 6 พ.ย. 2566 06:59 น.

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ถ้าสำรวจการโพสต์ทวิตเตอร์ หรือ X Srettha Thavisin ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในแต่ละวันที่โพสต์ภารกิจให้ประชาชนรับทราบว่าได้ทำงานเรื่องอะไรไปบ้าง จะพบข้อความที่โพสต์ในเนื้อหาซ้ำๆกันหลายครั้ง เรียกร้องให้แรงงานไทยที่ไปทำงานในอิสราเอล “กลับบ้านเถอะครับ รัฐบาลเยียวยาได้ ความปลอดภัยของทุกท่านสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด”

ด้วยเพราะสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่มฮามาส ทวีความรุนแรงมากขึ้น และหวั่นจะบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ถ้าถึงเวลานั้นยังมีแรงงานไทยอยู่ในพื้นที่สู้รบ รัฐบาลไทยคงต้องวิ่งวุ่นมากกว่านี้

เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2566 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Royal Thai Embassy, Tel Aviv” ว่า ตามที่ประกาศให้คนไทยที่ประสงค์กลับประเทศเดินทางไปที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2566 และได้จัดเที่ยวบินอพยพคนไทยแล้ว 35 เที่ยวบิน ต่อมามีผู้มาแจ้งขอกลับไทยที่ศูนย์พักพิงน้อยลงมาก จึงจัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำอพยพคนไทยเที่ยวสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2566 และได้ปิดศูนย์พักพิงแล้ว และยืนยันว่ารัฐบาลไทยยังดูแลผู้ที่ประสงค์กลับไทยในช่วงสงคราม

สำหรับจำนวนแรงงานไทยที่เดินทางจากอิสราเอลกลับประเทศ จนถึงวันที่ 3 พ.ย.2566 กลับถึงไทยแล้ว 53 เที่ยวบิน จำนวน 8,728 คน และยังคงมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในอิสราเอล 21,229 คน

ในจำนวนคนไทยที่ยังคงอยู่ในอิสราเอลนี้รัฐบาลไทยยังคงอยากให้เดินทางกลับประเทศทั้งหมดจึงออกมาตรการทางการเงินเพื่อจูงใจเพิ่มเติม “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จึงได้สำรวจวงเงินและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แรงงานจะได้รับ พร้อมทั้งได้สัมภาษณ์ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในเรื่องดังกล่าว

ชง ครม.อนุมัติงบ 1,500 ล้าน

“นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามผมว่าแรงงานที่กลับมาจะได้รับเงินเท่าไหร่ ผมได้แจ้งว่ามีเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเนื่องจากภาวะสงคราม 15,000 บาท ท่านนายกฯก็บอกว่าไม่พอ ให้ผมไปคิดว่า วงเงินที่จะให้เพิ่มอีกควรเป็นเท่าใด ผมจึงเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมาขอให้รัฐบาลอนุมัติงบกลางเพื่อเพิ่มให้อีกคนละ 50,000 บาท เพื่อให้เขาได้รับคนละ 65,000 บาท ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วยในหลักการ” นายพิพัฒน์ กล่าว

ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พ.ย.นี้ กระทรวงแรงงานจะนำเสนอรายละเอียดให้ ครม.อนุมัติ งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้กับแรงงานไทยทุกคนที่เดินทางกลับจากอิสราเอล คนละ 50,000 บาท โดยประมาณการจากจำนวนแรงงานไทยในอิสราเอล ทั้งสิ้น 30,000 คน โดยรวมทั้งคนที่เดินทางกลับมาแล้ว และที่กำลังจะเดินทางกลับมา โดยมีเงื่อนไขว่าเป็นการเดินทางกลับมาในช่วงระหว่างการเกิดสงคราม

ส่วนที่พูดถึงเงินสดก้อนแรกคนละ 15,000 บาท มาจากเงินสงเคราะห์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเงินสงเคราะห์จากการเดินทางกลับประเทศเนื่องจากภาวะสงคราม

ขณะเดียวกัน จากการประชุม ครม.สัปดาห์ก่อนได้เห็นชอบในหลักการเรื่องการพักหนี้เงินกู้เดิมที่แรงงานต้องกู้เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางไปทำงานในอิสราเอล ซึ่งบางคนเพิ่งเดินทางไปไม่กี่เดือน หรือเพิ่งเดินทางไปปีแรก ยังมีหนี้สินตรงนี้อยู่ เป็นเหตุให้ยังไม่อยากเดินทางกลับไทย

ทางรัฐบาลก็จะสนับสนุนพักหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ให้ตามวงเงินที่มีอยู่จริงคนละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี สำหรับแรงงานไทยที่กู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานในอิสราเอล เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายภายหลังเดินทางกลับ ซึ่งจะเสนอรายละเอียดต่อที่ประชุม ครม.วันที่ 7 พ.ย.นี้เช่นกัน

เงินกู้ใหม่ 1.5 แสนบาทคืน 20 ปี

ส่วนที่ ครม.อนุมัติไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนวงเงินกู้รวม 2,000 ล้านบาท คุณสมบัติของผู้กู้ต้องเป็นผู้ที่ไปทำงานที่อิสราเอล อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน 60 ปี ในวงเงินดังกล่าวจะสามารถปล่อยกู้ให้ได้ประมาณ 12,000 ราย รายละไม่เกิน 150,000 บาท

เงินกู้ก้อนนี้พิเศษตรงที่แรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอล ที่เป็นผู้กู้จะจ่ายดอกเบี้ยเพียง 1% และมีระยะเวลาการคืนงวดเงินกู้สูงสุดถึง 20 ปี และปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 งวดแรก คิดเฉลี่ยต่ำสุดเดือนละ 689.84 บาท

“วงเงินกู้ก้อนนี้ ธนาคารทั้ง 2 แห่งคิดดอกเบี้ย 3% โดยแรงงานจ่ายเอง 1% อีก 2% รัฐบาลช่วยจ่ายให้ เพื่อให้แรงงานได้มีเงินไปชำระหนี้กู้ยืมสำหรับการไปทำงานที่อิสราเอล หรือนำไปลงทุนประกอบอาชีพใหม่ ระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อ เริ่มตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติ คือ วันที่ 31 ต.ค.2566-30 มิ.ย.2567 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ”

ภายใต้โครงการนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ ไว้ให้ทั้งสิ้นไม่เกิน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 400 ล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารออมสิน 200 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 200 ล้านบาท

2.ชดเชยอัตราดอกเบี้ย 2 % ของวงเงินสินเชื่อ ที่อนุมัติเป็นระยะเวลา 20 ปี รวมทั้งสิ้น 800 ล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารออมสิน 400 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 400 ล้านบาท

********************

1.โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย เงินกู้ระยะยาว 20 ปี รายละไม่เกิน 150,000 บาท ดอกเบี้ย 1 % ต่อปี ผ่อนคืนเดือนละ 689.84 บาท

2.พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้เดิม สูงสุดรายละ 150,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี

3.เงินสดช่วยเหลือ รายละ 65,000 บาท จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 15,000 บาท และรัฐบาลให้เพิ่ม 50,000 บาท

4.กระทรวงการต่างประเทศ จ่ายค่าเครื่องบินเดินทางกลับตามจริง

5.กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ มอบกรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ รายละ 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายจัดการศพ ไม่เกินรายละ 40,000 บาท กรณีพิการ รายละ 15,000 บาท กรณีทุพพลภาพ รายละ 30,000 บาท

สิทธิประโยชน์จากอิสราเอล

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่แรงงานไทยจะได้รับทั้งจากประเทศไทยและประเทศอิสราเอล แบ่งเป็น

1. สิทธิประโยชน์จากประเทศไทย เงินสงเคราะห์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จะมอบให้กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท กรณี พิการคนละ 15,000 บาท และกรณีทุพพลภาพคนละ 30,000 บาท

2. สิทธิประโยชน์จากประเทศอิสราเอล แบ่งเป็น สิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล (National Insurance Institute) กรณีบาดเจ็บหรือพิการบาดเจ็บ 10-19% ของร่างกาย ได้เงินค่าชดเชยเหมาจ่ายจำนวน 1 ครั้ง บาดเจ็บเกิน 20% ของร่างกาย ได้รับเงินรายเดือนทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต และบาดเจ็บเกิน 60% ขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยทุกเดือนจนเสียชีวิต และได้รับค่าชดเชยความพิกลพิการเพิ่มเติม

จ่ายเงินช่วยทายาทผู้เสียชีวิต

สำหรับผู้เสียชีวิต บิดา มารดา ภรรยาและบุตรของผู้เสียชีวิตทุกคนจะได้รับเงินช่วยเหลือทุกเดือนจนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ หรือลูกมีอายุครบ 18 ปี โดยได้รับเงินชดเชยสูงสุดต่อเดือน 60% จากฐานการคำนวณ 9,000 เชคเกล ประมาณ 49,768 บาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคมอิสราเอลจะกำหนดสัดส่วนว่า ทายาทแต่ละรายจะได้รับส่วนแบ่งจากเงินจำนวนดังกล่าวเท่าไหร่ โดยจะพิจารณาจากภาวะพึ่งพิงหรือการดูแลที่ได้รับจากผู้เสียชีวิต และความสามารถในการเลี้ยงชีพของทายาท

อย่างไรก็ตาม เฉพาะในกรณีสงคราม บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายอายุ 18 ปีขึ้นไป นับหลังวันที่ 7 ต.ค.2566 ยังไม่ครบ 30 ปีบริบูรณ์ ยังไม่ได้แต่งงาน ยังไม่ได้ซื้อบ้าน จะได้รับเงินช่วยเหลือแบบเหมาจ่าย 1 ครั้ง จำนวน 100,000 เชคเกล หรือประมาณ 921,600 บาท เมื่อแต่งงานหรือซื้อบ้าน หรือหากไม่แต่งงานหรือซื้อบ้านจะได้รับเงิน เมื่ออายุครบ 30 ปีบริบูรณ์

สำหรับครอบครัวของผู้ถูกจับกุมตัวที่ได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอล จะได้รับเงินช่วยเหลือแบบเหมาจ่าย 1 ครั้ง ซึ่งประกันสังคมอิสราเอลอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด

บริษัทจัดหางานจ่ายคืนค่าบริการ

นอกจากนี้ มีเงินค่าบริการจัดหางานของบริษัทจัดหางานอิสราเอล แบ่งเป็น ระยะเวลาการทำงานในประเทศอิสราเอล ไม่เกิน 18 เดือน ได้เงินคืนจากบริษัทจัดหาทางอิสราเอล 60% หรือประมาณ 16,000 บาท

ทำงานตั้งแต่ 18 เดือน แต่ไม่เกิน 36 เดือน ได้เงินคืน 33% หลังหักภาษีแล้ว หรือประมาณ 8,000 บาท ส่วนคนที่ทำงานเกิน 36 เดือน จะไม่สามารถขอเงินค่าธรรมเนียมคืนได้

ส่วนทางนายจ้างอิสราเอล จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างและเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง โดยลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างปกติ ปีละ 1 เดือน ประมาณ 5,300 เชคเกล หรือประมาณ 48,844 บาท เมื่อทำงานติดต่อกับนายจ้างรายเดียวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

รัฐบาลไทยจ่ายค่าเครื่องบิน

ในปฏิบัติการนำคนไทยในอิสราเอลอพยพ แม้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้ปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวไปแล้ว ส่วนแรงงานไทย ที่พร้อมจะเดินทางกลับเอง ก็ยังสามารถเบิกจ่ายค่าเครื่องบิน ตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งคนที่เดินทางกลับโดยจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินเองก่อนหน้านี้จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด

โดยกระทรวงแรงงานได้เปิดให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอล ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล โดยเอกสารและหลักฐานการยื่นขอรับค่าใช้จ่าย ต้องเป็นเอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 เป็นต้นไป

ส่วนกลางสามารถยื่นได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือแรงงาน และติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล บริเวณชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค สามารถยื่นได้ที่ สำนักงานแรงงานจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เอกสารประกอบด้วย 1.บอร์ดดิ้งพาส หรือ ตั๋วเครื่องบิน/ใบเสร็จรับเงิน หรือ เอกสารการจ่ายเงิน 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.สำเนาหนังสือเดินทาง/เอกสารเดินทาง 4.สำเนาสมุดบัญชีธนาคารผู้รับบริการ

“กระทรวงแรงงานจะนำเอกสารหลักฐานทั้งหมด ส่งไปเบิกเงินจากกระทรวงการต่างประเทศที่ดูแลค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ ซึ่งในช่วงแรกการดุแลในส่วนนี้อาจจะช้าไปหน่อย ต้องขออภัยพี่น้องแรงงานด้วย แต่จากนี้ไประบบลงตัวแล้วจะมีความรวดเร็วขึ้น”

นายพิพัฒน์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ขอให้แรงงานที่ยังกังวลว่าจะกลับมาประเทศไทยดีหรือไม่ มีความมั่นใจว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะดูแลพวกท่านอย่างดี และได้หารือกับทางการอิสราเอลแล้วว่า ขอให้แรงงานที่กลับมาเพราะสงครามสามารถกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้อีกครั้ง

“รัฐบาลอิสราเอลก็ให้สิทธิพิเศษคือ หากแรงงานที่แม้ทำงานครบสัญญา 5 ปี 3 เดือนแล้ว ก็สามารถทำงานได้ต่ออีก 1 ปี จากเดิมที่ต้องเดินทางกลับ เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมืองของอิสราเอล ที่หากอยู่นานกว่านั้นเขาจะต้องมีสวัสดิการให้เสมือนเป็นพลเมือง”

ที่มากไปกว่านั้น หากแรงงานไทยที่กลับมาแล้วต้องการกลับไปทำงานในประเทศอื่น ก็พร้อมให้การสนับสนุน กระทรวงแรงงานได้ขยายการเจรจากับหลายประเทศให้แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย เบื้องต้นมี 5 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย และกรีซ

ดังนั้น ในภาวะสงครามขอให้แรงงานไทยกลับมาก่อน แล้วค่อยหาโอกาสกลับไปทำงานในต่างแดนอีกครั้ง.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ