ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ก้าวสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” จากการมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 12,814,778 คน คิดเป็น 19.40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ท่ามกลางอัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
ประชากรวัยแรงงาน อายุตั้งแต่ 15-59 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรวัยทำงานอยู่ที่ 1 : 3.37 คน ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ 30 มิ.ย.2566
คนไทยที่เกิดในปี 2506 กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปี) อย่างสมบูรณ์และอีกไม่ถึง 20 ปี คาดการณ์ว่าสังคมไทยจะเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” หรือการมีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด!! โดยคาดการณ์ว่า ประชากรผู้สูงวัยจะเพิ่มเป็น 20.5 ล้านคน หรือ 31.4% ของประชากรทั้งหมด ภายในปี 2583!!
ขณะเดียวกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยในเชิงลึก ถึงสถานะทางการเงินของคนไทยวัยเกษียณ กลับพบสิ่งที่น่าตกใจว่า “สถานะการเงินของคนวัยเกษียณตกอยู่ในภาวะ “เปราะบาง” อย่างน่าเป็นห่วง” โดยพบว่าผู้สูงอายุจำนวน 100 คน มีเพียง 54.3 คน หรือ 54.3% เท่านั้นที่มีเงินออมหลังเกษียณ ขณะที่อีก 45.7 คน หรือ 45.7% ไม่มีเงินออมเลย!!
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาหรือโจทย์สำคัญและเป็นพันธกิจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) องค์กรที่ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นกับภารกิจในการขับเคลื่อน Finance and Investment Knowledge ของประเทศ หรือการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้คนไทยในระยะยาวที่จะต้องศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึก และพยายามให้ความรู้ด้านการเงิน การลงทุนในการดำเนินชีวิตของคนไทยในทุกช่วงของชีวิต
ทั้งนี้ เมื่อสำรวจเจาะลึกลงไปยังพบอีกว่าผู้สูงอายุที่ว่ามีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณนี้ ส่วนใหญ่หรือเกือบครึ่ง คือ 41.4% มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท!! ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณแน่นอน!! และห่างไกลจากคำว่า “เกษียณสุข” อยู่มากมาย
ดังนั้น จึงทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพารายได้ที่ใช้ในการดำรงชีพหลักๆจากคนอื่นมีเพียงส่วนน้อยที่มีเงินใช้จ่ายเป็นของตัวเอง และแม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้ว แต่ผู้สูงอายุยังต้องทำงานต่อเนื่องเพื่อหาเลี้ยงตัวเองถึง 32.40% ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด
ขณะที่อีก 32.20% ต้องกลับมาพึ่งพารายได้จากลูกหลาน และอีก 19.20% มีชีวิตอยู่ได้ด้วย “เบี้ยยังชีพ” สวัสดิการจากภาครัฐที่มีเพียงน้อยนิด ส่วนอีก 7.50% มีรายได้จากเงินบำเหน็จ-บำนาญ ขณะที่มี 4.50% พึ่งพาอาศัยรายได้จากคู่สมรส
และที่น่าตกใจคือมีผู้สูงอายุเพียง 1.50% เท่านั้น ที่มีรายได้หลักมาเลี้ยงชีพจาก “ดอกเบี้ยและเงินออม” ที่เก็บออมต่อยอดได้ด้วยตนเองในช่วงวัยทำงาน!! ดังนั้น การวางแผนเกษียณจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน แม้ว่าจากการสำรวจโดย OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) พบว่าระดับทักษะทาง การเงินของคนไทยอยู่ที่ 71% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ 26 ประเทศ แต่ด้านความรู้ทางการเงินคนไทยกลับได้คะแนนน้อยที่สุดเพียง 62.9%
ขณะที่ผลสำรวจทักษะทางการเงินที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2563 ออกมาว่า ผู้สูงอายุมีระดับทักษะการเงินน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคนวัยอื่น!!
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนมีความพยายามรณรงค์และให้ความรู้ ทางด้านการเงินการออมและการลงทุนทำให้พบว่าปัจจุบันคนไทยได้เริ่มให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินและการวางแผนการออมเพื่อเกษียณกันมากขึ้น
โดยล่าสุดพบว่า 84.7% คนไทยเริ่มมีการวางแผนการออมเพื่อเกษียณ!! อย่างไรก็ตาม แต่มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่สามารถทำได้จริงตามแผน โดยส่วนใหญ่คือมากถึง 48.2% เริ่มลงมือแล้วแต่ยังไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยเกษียณ (Gen Baby Boomer) ให้ความสำคัญเรื่องการออมเพื่อเกษียณมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้ตามแผน
แต่ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุ มีมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนรวมสูงที่สุด
โดยจำนวนบัญชีกองทุนรวมที่มีทั้งหมด 1,748,132 บัญชี เป็นบัญชีของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 61 ปี ขึ้นไปจำนวน 283,111 บัญชี หรือ 16% ของบัญชีทั้งหมด แต่กลับมีมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนรวมกันมากที่สุดถึง 2,059,562 ล้านบาท คิดเป็น 45.72% ของมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนรวมทั้งสิ้น 4,504,414 ล้านบาท
ขณะที่ผู้ที่ใกล้วัยเกษียณคืออายุ 51-60 ปี มีเงินลงทุนในกองทุนรวม 1,164,488 ล้านบาท หรือ 25.85% และอายุ 41-50 ปี มีมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนรวม 885,430 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ผู้สูงวัยที่มีเงินออม ใส่เงินลงทุนไว้ในกองทุนรวมมากกว่าคนช่วงอายุอื่นๆ
จากข้อมูลเหล่านี้ จึงเห็นความจำเป็นที่ควรส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการลงทุนที่เหมาะสมและถูกต้องให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินให้เพียงพอใช้หลังเกษียณ!!
และถืออีกหนึ่งภารกิจสำคัญของตลาด หลักทรัพย์ฯในการส่งเสริมความรู้และทักษะด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนให้ประชาชน หวังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
“พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา” ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน (Capital Market Education) เปิดเผยว่า จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้นนั้น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ จัดทำโครงการ Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ เพื่อเร่งส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการลงทุนที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ ให้สามารถบริหารจัดการเงินให้พอใช้หลังเกษียณ
โดยร่วมกับพันธมิตร พัฒนาเนื้อหาหลักสูตร เส้นทางการเรียนรู้ และเผยแพร่ความรู้ด้านการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณ เพื่อหวังให้คนไทยเตรียมพร้อมสู่การเกษียณอย่างมีความสุข โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายหลัก คือกลุ่มคนใกล้เกษียณ ผู้ที่มีอายุ 45-65 ปี ทั้งข้าราชการ พนักงานบริษัท แรงงานนอกระบบ รวมทั้งประชาชนทั่วไป
เพราะการจัดสัดส่วนการออมการลงทุน หรือแม้กระทั่งการให้น้ำหนักต่อการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ รวมทั้งการวางแผนทยอยถอนเงินหรือขายพอร์ตขายสินทรัพย์ ที่ลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท ก่อนและหลังเกษียณนั้น มันมีความจำเป็นและความเหมาะสมที่แตกต่างกัน ที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ!!
โดยกระบวนการเรียนรู้ Happy Money, Happy Young Old เริ่มจาก 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การเรียนผ่าน E-LEARNING เป็นการให้เรียนรู้พื้นฐานด้านการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณ เทคนิคการบริหารจัดการเงินให้พอใช้ (หลักสูตร 2 ชม.) คือวางแผนการเงินตามช่วงวัยหลักสูตรวัย 50+ : เตรียมชีวิตมั่งคั่ง รับวันเกษียณ (1 ชม.) และหลักสูตรวัย 60+ : บริหารเงินหลังเกษียณสไตล์วัยเก๋า (1 ชม.)
เมื่อผ่านขั้นตอนที่ 1 แล้วจึงจะสามารถเข้าร่วม ขั้นตอนที่ 2 จัด WORKSHOP หลักสูตรบริหารเงินหลังเกษียณ (6 ชม.) โดยให้มาร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ on-site ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญมาอธิบายเชิงลึก และให้ฝึกลงมือทำ โดยให้วางแผนและทบทวนแผนการเงินวัยเกษียณของตนเอง เสร็จแล้วก็เข้าสู่ ขั้นตอนที่ 3 GROUP MENTOR คือ การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางออนไลน์
“หลังจากการเริ่มโครงการ Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ ได้มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 5,727 คน ซึ่งเกือบทั้งหมด 95.42% มีความพึงพอใจต่อเนื้อหาหลักสูตร และ 93.74% ให้ความเห็นว่าสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ได้จริง รวมทั้งยังมีความพึงพอใจต่อวิทยากรที่มาให้ความรู้”
“พรรณวดี” กล่าวว่า โครงการ Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้โครงการ “HAPPY MONEY สุขเงินสร้างได้” ที่เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2552 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการออมและการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานในระบบกว่า 14 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน และผู้สูงอายุ 12 ล้านคน
โดยได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตรภาครัฐและเอกชนแล้ว 635 องค์กร สร้างพี่เลี้ยงการเงิน 10,832 คนไปต่อยอดให้ความรู้สร้างพื้นที่เรียนรู้ด้านการออมการวางแผนการเงิน ครอบคลุมพนักงานในองค์กรต่างๆแล้ว 3,071,099 คน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการห้องเรียนนักลงทุน ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 สร้างหลักสูตร e-Learning มีผู้มาเข้าหลักสูตรเรียนรู้มากกว่า 2,137,245 คน การจัดสัมมนาที่มีผู้มาเข้าดูกว่า 34,978 Views และมีการเข้ามาเรียนรู้ผ่าน Education Platform มากถึง 9 ล้าน Views
ส่วนห้องสมุดมารวยที่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2547 มีผู้มาใช้บริการทั้ง Online & Offline กว่า 1,000,000 ครั้ง ยังไม่รวมการเข้าไปตั้ง SET INVESTMENT CENTER ในมหาวิทยาลัยภูมิภาค 7 แห่ง และ SET CORNER ในมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆรวม 123 แห่ง เป็นต้น
“นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภารกิจการส่งเสริมความรู้และทักษะด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนให้กับประชาชนคนไทย ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กับการมุ่งมั่นขับเคลื่อน Finance and Investment Knowledge ของประเทศ เพื่อมุ่งหวังช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ประชาชนไทยในระยะยาว” ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯกล่าวทิ้งท้าย.
ทีมเศรษฐกิจ