ไทยพาณิชย์ คาด สงครามอิสราเอล ดันสินทรัพย์ปลอดภัยราคาพุ่ง จับตาค่าเงินบาทอาจพลิกแข็งค่า

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยพาณิชย์ คาด สงครามอิสราเอล ดันสินทรัพย์ปลอดภัยราคาพุ่ง จับตาค่าเงินบาทอาจพลิกแข็งค่า

Date Time: 11 ต.ค. 2566 14:34 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Latest


 

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันเกินกว่า 2,000 รายนั้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นมาบ้าง แต่ยังต่ำกว่าจุดสูงสุดเมื่อเดือนก่อน โดยในระยะต่อไปมองว่า สงครามน่าจะไม่ทวีรุนแรงขึ้นมาก และไม่น่าจะลุกลามไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาค (เช่น อิหร่าน หรือซาอุดีอาระเบีย) จนกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันจึงน่าจะไม่เพิ่มขึ้นอีกเร็วนัก 

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ความไม่สงบนี้อาจส่งผลให้โอกาสที่
ซาอุดีอาระเบียจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในระยะต่อไปเกิดได้ช้าลง จึงอาจเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำมันโลกอาจอยู่ในระดับสูงราว 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปจนถึงไตรมาสแรกปีหน้าได้

ความกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรง ทำให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยปรับสูงขึ้น โดยราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยเรื่อง Safe haven flows และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ที่ปรับลดลงในช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา จาก 1) ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้น Yields จึงปรับลดลง และ 2) คณะกรรมการ Fed ได้ส่งสัญญาณ Dovish มากขึ้น

โดยกล่าวว่า Treasury yields ที่สูงขึ้นมากในเดือนที่ผ่านมาอาจทดแทนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ได้ เพราะทำให้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นพอสมควรแล้ว นักลงทุนจึงปรับลดโอกาสที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ลง Treasury yields จึงปรับลดลง ด้านสินทรัพย์ปลอดภัยอื่น เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินเยน ในช่วงต้นสัปดาห์ก็ปรับแข็งค่าขึ้นเช่นกัน แต่ US Treasury yields ที่ลดลงล่าสุด ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา


สำหรับค่าเงินบาทนั้น ความเสี่ยงจากสงครามส่งผลกระทบต่อเงินบาทเพียงเล็กน้อย โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงแรก แต่ก็กลับมาแข็งค่าขึ้นหลังเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และราคาทองคำปรับสูงขึ้น ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยบ้าง แต่ไหลออกจากตลาดบอนด์เล็กน้อย ทำให้สุดท้ายเงินบาทกลับมาแข็งค่าราว 1.7% จึงสะท้อนได้ว่า นักลงทุนโลกอาจยังไม่กังวลว่าสงครามจะทวีความรุนแรงไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคนัก ภาวะ Risk-off จึงไม่รุนแรงมาก 

ในระยะต่อไป ประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ โดยมองว่าสงครามน่าจะไม่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันดิบจะไม่สูงขึ้นเร็วนัก ประกอบกับแนวโน้มที่ Fed อาจคงดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายตามการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มส่งสัญญาณอ่อนแอลงบ้าง จึงทำให้ US Treasury yields อาจลดลงได้ในระยะต่อไป ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐจึงอาจปรับอ่อนค่าลง ลดแรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ 


สำหรับปัจจัยในประเทศ SCB FM มองว่า การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาส 4 อีกทั้ง มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวน่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นได้ และแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่น่าจะลดลงก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยสามารถเพิ่มขึ้นได้ปลายปีนี้ ส่งผลให้เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า โดยมองกรอบเงินบาทราว 35.00-36.00 ณ สิ้นปีนี้ และ 33.00-34.00 ณ สิ้นปีหน้า


อย่างไรก็ดี ต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะสงครามอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันและ Treasury yields ปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินได้ โดยหากสงครามยืดเยื้อหรือขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น เช่น อิหร่านเข้าร่วมสงคราม อาจทำให้อุปทานน้ำมันโลกลดลง ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น และคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น Treasury yields ก็อาจสูงขึ้น กดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่าและเงินบาทอาจอ่อนค่าเร็วได้ ในกรณีนี้ อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปถึงระดับ 37.50-38.00 บาท 

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ