ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ในไทยสำหรับผู้เล่นรายใหม่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จากความท้าทายต่างๆ ทั้งในด้านการหารายได้ การบริหารต้นทุนดำเนินการ ความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกับผู้เล่นอย่างธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมในตลาดซึ่งมีการพัฒนา Mobile banking ที่ตอบโจทย์การทำธุรกรรมของผู้บริโภคไปมากแล้ว
จึงเป็นไปได้ว่าแพลตฟอร์มของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาอาจไม่ได้สร้างความแตกต่างให้ผู้บริโภคในมุมของการทำธุรกรรมหลัก แต่คาดว่าน่าจะเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการใช้บริการทางการเงิน หากมีแรงจูงใจในการใช้งานที่มากพอ
เมื่อพิจารณาการประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในต่างประเทศจะพบว่าผู้ให้บริการที่ประสบความสำเร็จมักมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งจากแพลตฟอร์มออนไลน์เดิม มีจุดขายและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์การออกใบอนุญาตของทางการในแต่ละประเทศ มีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่พร้อมรองรับการต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้นจากการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ ขณะที่ยังสามารถแชร์ต้นทุนการบริหารงานบางอย่างได้ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา User Interface ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงมีการจับกลุ่มลูกค้า Unbanked และ Underbanked ทั้งที่เป็นลูกค้ารายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการระดับไมโคร ภายใต้เงื่อนไขการให้บริการที่ยืดหยุ่นกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม ทำให้ผู้ให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ประสบความสำเร็จมักมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่สูงกว่า ในขณะที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อ (Loan growth) อยู่ในระดับสูง
ดังนั้นแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างให้กลุ่มผู้เล่นรายใหม่ให้สามารถเข้ามาแข่งขันในธุรกิจธนาคารได้ ทว่ารูปแบบการประกอบธุรกิจดังกล่าวในไทยยังต้องรอการพิสูจน์อีกระยะหนึ่ง เพื่อให้เข้ากับบริบทและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคไทย โดยสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ในระยะข้างหน้านั่นเอง
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการอัปเดตว่า ตามที่ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ระหว่างวันที่ 12 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น ธปท. ได้รับความเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ
โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับวัตถุประสงค์และแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ในภาพรวม และมีการสอบถามรายละเอียดของหลักเกณฑ์ในหลายมิติ ซึ่งบางประเด็นมีความสำคัญและอาจกระทบการตัดสินใจหรือการออกแบบแผนงานของผู้สมัคร รวมถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจของ Virtual Bank ที่จะถูกจัดตั้ง
ดังนั้น ธปท. จึงนำความเห็นที่ได้รับมาปรับปรุงแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank โดยขยายความในประเด็นที่สำคัญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้สมัครทุกรายได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจอย่างเพียงพอและเท่าเทียมกัน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ทั้งนี้ เพื่อให้มี Virtual Bank ในประเทศไทยที่สามารถนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งความต้องการของผู้ใช้บริการทางการเงินแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธปท. จึงขอเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank อีกครั้งในส่วนที่มีการเพิ่มรายละเอียดหรือเงื่อนไขอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2566
โดยสามารถส่งความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. หรือทางอีเมล virtualbank@bot.or.th ทั้งนี้ ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมาประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank โดยคาดว่าจะเสนอหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคม 2566