ผ่าปมร้อน "วงจรดอกเบี้ยขาขึ้น" เปิดมุมมองนโยบายการเงิน ธปท.

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ผ่าปมร้อน "วงจรดอกเบี้ยขาขึ้น" เปิดมุมมองนโยบายการเงิน ธปท.

Date Time: 24 ก.ค. 2566 06:58 น.

Summary

  • ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ที่วันนี้ขึ้นมาเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ซ้ำเติมด้วยความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่ยังไม่ลดลง กดดันภาคส่งออกของไทยมากขึ้น

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ที่วันนี้ขึ้นมาเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ซ้ำเติมด้วยความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่ยังไม่ลดลง กดดันภาคส่งออกของไทยมากขึ้น ภาคท่องเที่ยวกำลังระส่ำจากความกังวลว่า จะเกิดความรุนแรงรอบใหม่ที่จะกระทบความมั่นใจนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเผชิญหน้ากับค่าครองชีพที่สูงต่อเนื่อง ภาคธุรกิจกังวลกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผลจากการขึ้นดอกเบี้นโยบายต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาเพื่อสกัดเงินเฟ้อสูง กำลังเพิ่มภาระการผ่อนหนี้รายเดือนให้สูงขึ้น และกลายเป็น “ฟางเส้นใหม่ที่หนักขึ้นเรื่อยๆบนหลังลา” ล่าสุด 2 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อของไทยลดลงมาก ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง ถึงเวลาที่ประเทศจะยุติวงจร “ดอกเบี้ยขาขึ้น” แล้วหรือยัง!

หาคำตอบนี้ไปกับ “ทีมเศรษฐกิจ” จาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจ และได้มุมมองภาวะเศรษฐกิจ ทิศทางนโยบายการเงินไทยอย่างครบถ้วน รวมทั้ง ยังมีความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในด้านการธนาคารและตลาดทุนเพิ่มเติมให้ด้วยในช่วงท้าย

ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจฟื้นแข็งแรง

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมองไปถึงการดำเนินนโยบายการเงิน และทิศทางอัตราดอกเบี้ย ผู้ว่าการ ธปท.เริ่มจากการมองภาพเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าว่า “ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เคยมองไว้ขณะนี้ ก็ยังเป็นไปตามที่คิด โดยครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจจะยังขยายตัวต่อเนื่อง และขยายตัวมากกว่าครึ่งแรกของปี ในครึ่งแรกเรามองการขยายตัวไว้ที่ 2.9% ขณะที่ครึ่งปีหลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.2% แม้จัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากว่าที่คาดไว้”

การฟื้นตัวหลักๆ เกิดจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5% สอดคล้องกับรายได้นอกภาคการเกษตรที่โตขึ้นประมาณ 7% ในครึ่งปีแรก ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่เป็น “ตัวหัวใจ” ตัวจำเป็นสุดคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวประมาณ 29 ล้านคน

แล้วเป็นห่วงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ไม่แน่นอนสูงจะกระทบต่อการส่งออกหรือไม่ ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า มีผลกระทบแน่ โดยภาพรวมในช่วงหลังมานี้ข่าวเศรษฐกิจจีนไม่ค่อยดีมีมากขึ้นหลังจากจีนเปิดประเทศ ซึ่งช่วงแรกก็ดูดี แต่ช่วงหลังเศรษฐกิจจีนแผ่วลงมากและยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคในจีน โดยเฉพาะการส่งออกจีนที่ชะลอตัวลง ซึ่งกระทบต่อเนื่องมายังการส่งออกของไทย เพราะทำให้การนำเข้าของจีนชะลอลงด้วย

แต่ในทางกลับกันข่าวจากสหรัฐอเมริกาดีขึ้นจากเดิมคนมองว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะถดถอยชัวร์ๆ แต่ตอนนี้โอกาสของการถดถอยเริ่มลดลง และในมุมมองของ ธปท.มองว่า จะเป็นการไม่เติบโต แต่ไม่ถึงกับถดถอยร้ายแรง ดังนั้น ในปีนี้ ธปท.ได้มองความเสี่ยงของโลกไว้พอสมควรแล้ว และไม่ได้ประมาณการว่าการส่งออกจะดีขึ้นมาก โดยครึ่งแรกของปีภาคส่งออกติดลบ แต่ครึ่งปีหลังคาดว่าจะกลับมาเป็นบวก ทำให้ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ศูนย์ หรือแทบจะไม่โตเลย

“เงินเฟ้อ” รอเวลาดีดสูงรอบใหม่

มาถึงเรื่องเงินเฟ้อ ในช่วงครึ่งปีแรก ภาวะเงินเฟ้อออกมาต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ ซึ่งแม้เราจะมองไว้แล้วว่าจะมีปัจจัยชั่วคราวจากมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า ทำให้เงินเฟ้อลดลง แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ยอมรับว่า ลดลงมากกว่าที่เราคิด เพราะถูกซ้ำเติมด้วยราคาอาหารสดและราคาพลังงานโลกในช่วงที่ผ่านมาที่ลดลง

“แต่สิ่งที่อยากจะเน้นคือ ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อต่ำลงนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว เงินเฟ้ออย่างไรก็ต้องปรับขึ้นอีกครั้ง เพราะเงินเฟ้อที่ลดลงมาจากฐานและปัจจัยชั่วคราว โดยฐานของปีที่แล้วอยู่ในช่วงที่กำลังเพิ่มขึ้น และมีปัจจัยชั่วคราวที่ทำให้เงินเฟ้อช่วงนี้ลดลง แต่จากนี้ฐานจะสูงขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามที่ ธปท.มองว่าเงินเฟ้อจะลงแล้วมันก็จะขึ้น แต่จากตัวเลขจริงที่ออกมาทำให้เราลดประมาณการในช่วงขาขึ้นให้ต่ำลงกว่าประมาณการเดิม”

ทั้งนี้ ตัวเลขประมาณการเงินเฟ้อใหม่จะประกาศหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป แต่โอกาสที่เราจะเห็นเงินเฟ้อต่อไปข้างหน้าต่ำต่อเนื่อง “คงไม่ใช่” การลดประมาณการลงไม่ได้แปลว่า เงินเฟ้อจะต่ำอย่างนี้ต่อไป เพราะยังมีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นและขึ้นมากกว่าที่เราเห็น

“มองไปข้างหน้าเรื่องแรก ตราบใดที่ไม่มีอะไรที่ทำให้สะดุด เศรษฐกิจขยายตัว การท่องเที่ยวกลับมา เราจะเห็นเงินเฟ้อในฝั่งภาคบริการปรับตัวขึ้น เรื่องที่ 2 เมื่อมีการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น โอกาสที่ผู้ประกอบการจะส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นในช่วงก่อนไปยังราคาสินค้าก็ยังมี ยกตัวอย่างที่เราเห็นที่เมืองนอก ในยุโรป จะเห็นการส่งผ่านของต้นทุนของธุรกิจที่แรงมาก ศัพท์ที่เขาใช้ คือ Greedfation (เงินเฟ้อที่เกิดจากความโลภของบริษัท) ซึ่งแรงกว่า Infation ในบ้านเราคงมีการส่งผ่านต้นทุนในระยะต่อไป ทำให้มองว่าเงินเฟ้อยังมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น และเรื่องที่ 3 ยังไม่ได้พูดถึงตอนที่เรามีรัฐบาลใหม่เข้ามาจะมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น”

ธปท.ยังไม่ยุติวงจร “ดอกเบี้ยขาขึ้น”

จากเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ มาต่อกันที่นัยต่อ “นโยบายการเงิน” ซึ่งขอย้ำว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.เป็นการมองแนวโน้มและความเสี่ยงไประยะข้างหน้า (Outlook dependent) ไม่ใช่มองข้อมูลที่เกิดขึ้นล่าสุด (Data dependent) เหตุผลเพราะ ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนไม่แน่นอน หรือมีปัจจัยชั่วคราว เราไม่ต้องการให้นโยบายการเงินไปซ้ำเติมจุดนั้น และยังสอดคล้องผลของนโยบายการเงินที่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล

“แน่นอนว่า ข้อมูลเป็นได้ทั้งเรื่องเฉพาะหรือจะแสดงให้เห็นทิศทางชัด ว่า เราต้องเปลี่ยน Outlook จากที่เคยมอง แต่จากข้อมูลเงินเฟ้อที่เล่ามา เห็นชัดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว และไม่ได้เปลี่ยนแปลง Outlook จากที่เราประมาณการไว้ขนาดนั้น ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างทันทีทันใด”

เวลานี้เป็นเวลาที่เรากำลังอยู่ในช่วงปรับทิศทางนโยบายการเงินจากผ่อนคลายมากๆ ให้เข้าสู่ภาวะปกติ (Normalized) และเป็นการปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการจะปรับไปสู่ปกตินั้น ไม่ได้ดูแค่เงินเฟ้อตัวเดียวไม่ใช่ดูปัจจัยที่เผชิญเฉพาะหน้า แต่ต้องดูระยะยาว และเพื่อรู้ว่าภาวะปกติอยู่ที่ไหน จะต้องหา “จุดสมดุล”

คำถามต่อมา “จุดสมดุล” และ “ดอกเบี้ยระดับปกติ” คืออะไร ต้องกลับไปที่ 3 เป้าหมายหลักของเรา คือ 1.โตได้ตามศักยภาพของเศรษฐกิจ 2.เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งในขณะนี้คือ กรอบ 1-3% และ 3.ไม่สร้างปัญหาด้านเสถียรภาพการเงิน การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ใช่แค่เงินเฟ้อขึ้นสูง ทำให้ต้องไปจัดการ แต่ต้องดูระยะปานกลาง ระยะยาว เพื่อที่จะรู้ถึง “จุดสมดุล” ของทั้งสามสิ่งนี้

หากมองภาวะเศรษฐกิจเราเริ่มเข้าสู่การเติบโตในระดับศักยภาพที่ 3-4% เงินเฟ้อน่าจะกลับเข้าสู่กรอบได้ ตอนนี้ประมาณ 2% แต่เราอยากให้อยู่ในเป้าหมายอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เข้าแล้วออก และยังต้องติดตามผลกระทบด้านเสถียรภาพ ในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายของเราผ่อนคลายมายาวนาน ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงช่วงนี้ยังติดลบ ดอกเบี้ยที่ต่ำนานๆมีผลต่อพฤติกรรรมลงทุนเสี่ยงที่หวังผลตอบแทนสูงๆ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหารวมทั้งยังมีผลต่อการก่อหนี้เพิ่ม และพฤติกรรมออมเงิน เป็นปัจจัยที่เราต้องหา “จุดที่เหมาะสม” เพื่อรักษาเสถียรภาพระยะยาว

“ความจำเป็นที่จะหยุดกระบวนการ Normalization ในขณะนี้ยังไม่เห็น และเราไม่อยากให้ตลาดเข้าใจว่า เมื่อเงินเฟ้อลงมาแล้ว ถึงเวลาที่เราจะต้องหยุด เพราะเงินเฟ้อต่ำลงชั่วคราว และเราต้องการให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบอย่างยั่งยืน ซึ่งโจทย์ไม่ใช่แค่เงินเฟ้ออย่างเดียว ต้องดูไม่ให้บั่นทอนเสถียรภาพด้วย ดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบนานๆ จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง”

อย่างไรก็ตาม โจทย์การขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้เหมือนในต่างประเทศ เราสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ แต่ในต่างประเทศ เศรษฐกิจเขาร้อนแรง การที่จะไปถึงจุดสมดุลดอกเบี้ย เขาต้องทำแรง เขาต้อง “เหยียบเบรก” ให้เศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยจะต้องขึ้นเร็วและแรง แต่ของเราทำแค่ “ถอนคันเร่ง” จากที่เราเหยียบคันเร่งในช่วงโควิด มาตอนนี้เป็นการถอนคันเร่ง แต่ไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรกไม่ทำให้เศรษฐกิจชะลอ

“วันนี้ทั่วโลกกำลังถกเถียงกันว่า “ดอกเบี้ยปกติ” อยู่ที่เท่าไร ซึ่งมีหลายปัจจัยมากผมมองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามศักยภาพเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ ไม่เห็นปัญหาเสถียรภาพ หนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมากถือว่าได้ผล

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกคำถามที่ดีว่า เราจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเผื่อไว้เพื่อสร้าง policy space สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตหรือไม่ ซึ่งตามปกติคนแบงก์ชาติอยากมีเผื่อไว้ แต่ภายใต้ความไม่แน่นอนสูง ทำให้ต้องดูเฉพาะหน้า ในหลักการ policy space ควรมี เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าความไม่แน่นอนจะมาตอนไหน สิ่งที่ดีคือสร้างกันชนไว้ และกันชนของนโยบายก็คือ policy space แต่ก็ต้องชั่งให้ดี ระหว่างการฟื้นตัวที่ช้า และการเมืองไทยที่มีความไม่แน่นอนด้วย เราว่าต้องเก็บ policy space ไว้มากขนาดไหนถึงจะไม่สร้างต้นทุนมากเกินไป” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวทิ้งท้าย

ศรชัย สุเนต์ตา
ศรชัย สุเนต์ตา

คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง

มาที่มุมมองทิศทางดอกเบี้ยฝั่งธนาคารพาณิชย์ “ศรชัย สุเนต์ตา” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า “หากมองดอกเบี้ยโลก ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 26 ก.ค.นี้ 0.25% อยู่ที่ 5.25-5.50% และน่าจะคงไว้ในระดับสูงตลอดทั้งปีนี้ โดยปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เงินเฟ้อยังสูงเกินกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% และยังปรับลดลงช้า เงินเฟ้อพื้นฐาน แม้จะชะลอลงเร็วกว่าคาดแต่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูง และตลาดแรงงานที่ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง”

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยไทย จากข้อมูลของ SCB EIC ประเมินว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ประมาณ 2.5% ในไตรมาส 3 ปีนี้ และเป็นระดับที่คาดว่าเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

“ในภาพรวมสถาบันการเงินได้ส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 40-60% ไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท และส่งผ่าน 40-100% ไปยังดอกเบี้ยเงินฝาก โดยการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายสู่ระบบธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้ พบว่ามีการส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) มากที่สุด 57% รองลงมาดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน 56% ขณะที่ส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) น้อยที่สุดเพียง 22% สอดคล้องกับการสื่อสารของ ธปท.ที่ขอให้ธนาคารให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจขนาดเล็ก กลุ่มครัวเรือน และกลุ่มเปราะบาง”

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ภาคเอกชนมีต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนจะลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดที่ -2.9% ในไตรมาสที่ 8 หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งแรกเดือน ส.ค.65 และการบริโภคภาคเอกชนจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดที่-1.3% ในไตรมาสที่ 8 หลังการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถรับมือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยการกู้ยืมในช่วงก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (lock rate) และรีไฟแนนซ์เงินกู้จากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเพิ่มเงินสดสำรองสำหรับต้นทุนที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นจากดอกเบี้ยจ่าย ในขณะที่ยอดขายและกำไรมีแนวโน้มถูกกดดัน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อ แม้ว่ายังมีความเสี่ยงจากการส่งออกที่มีแนวโน้มแผ่วลง และความเสี่ยงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร

หนุน “เก็บกระสุน” รับมือเศรษฐกิจผันผวน

ขณะที่ฝั่งตลาดทุน “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทย ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า “ผมเชื่อว่าแบงก์ชาติจะไม่ลดดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อในประเทศจะลดลงต่ำกว่าระดับเป้าหมายไปแล้วก็ตาม รวมทั้งเงินเฟ้อโลกก็เข้าสู่ขาลงอย่างชัดเจน ซึ่งในภาวะปกติเราอาจได้เห็นแบงก์ชาติเริ่มกลับมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง แต่ในรอบนี้ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเสี่ยง ผมมองว่าแบงก์ชาติน่าจะต้องการ “เก็บกระสุน” ไว้ใช้ในยามจำเป็นหรือในยามฉุกเฉิน ซึ่งกระสุนที่ว่านี้ก็คือ policy space หรือ “ช่องว่างในการลดดอกเบี้ย” ในอนาคต

“รอบนี้ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่เงินเฟ้อไม่ได้พุ่งขึ้นสูงอย่างในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯที่ขึ้นไปแตะระดับเกือบ 10% และในยุโรปที่เงินเฟ้อขึ้นไปสูงกว่า 10% ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 4-5% จากระดับเดิมเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นมาแค่ 1.5% ทำให้ระดับดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบัน ต่ำเกือบจะที่สุดในโลก โดยมีเพียง 6 ประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าไทย”

ข้อดี คือ เศรษฐกิจไทยไม่ถูกกดดันด้วยนโยบายดอกเบี้ยสูงเหมือนประเทศส่วนใหญ่ แต่ข้อเสียคือ ในอนาคตประเทศไทยจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แบงก์ชาติจะมีช่องว่างลดดอกเบี้ยได้เล็กน้อยเท่านั้น

“ผมเชื่อว่านอกจากแบงก์ชาติจะไม่รีบลดดอกเบี้ย ยังมีความเป็นไปได้สูงว่าแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยอีก อาจจะ 1-2 ครั้ง เพื่อ “เพิ่มกระสุน” เผื่อไว้สำหรับอนาคต และเนื่องจากเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ผลพวงจากการฟื้นตัวอย่างร้อนแรงของภาคท่องเที่ยว น่าจะเป็นจังหวะดีที่แบงก์ชาติจะใช้โอกาสนี้ในการขึ้นดอกเบี้ย เพราะผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยจะถูกชดเชยได้จากการขยายตัวของภาคท่องเที่ยว”

มุมมองส่วนตัว ผมเห็นด้วยที่ยังไม่ควรรีบลดดอกเบี้ย การลดดอกเบี้ยช่วงนี้ถือเป็นการ “เสียของ” ผมเห็นด้วยอีกถ้าจะอาศัยจังหวะนี้ขึ้นดอกเบี้ยสัก 1-2 ครั้ง เพื่อเตรียม “เนื้อที่นโยบาย” ไว้ใช้ในยามจำเป็น.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ