เงินสกุลท้องถิ่นอีกหนึ่งตัวช่วยลดความผันผวนค่าเงิน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เงินสกุลท้องถิ่นอีกหนึ่งตัวช่วยลดความผันผวนค่าเงิน

Date Time: 22 ก.ค. 2566 06:32 น.

Summary

  • การดำเนินธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเงินโลกถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากค่าเงินเผชิญกับความผันผวนมาก ผู้ที่ได้รับผลกระทบคงหนีไม่พ้นภาคธุรกิจที่ทำการค้าระหว่างประเทศ

Latest

ความรู้ทางการเงิน สำคัญแค่ไหน? สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ในระบบการเงินโลกยุคนี้

ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

การดำเนินธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเงินโลกถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากค่าเงินเผชิญกับความผันผวนมาก ผู้ที่ได้รับผลกระทบคงหนีไม่พ้นภาคธุรกิจที่ทำการค้าระหว่างประเทศ ทั้งผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้า การนำพาธุรกิจฝ่าฟันความผันผวนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็อาจจะไม่ยากเกินไปที่จะรับมือ หากมีการใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงของค่าเงินได้อย่างเหมาะสม บางขุนพรหมชวนคิดจึงขอนำประเด็นนี้มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) ที่จะมีการชำระเงินด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า การทำประกันค่าเงิน (FX options) ที่ได้ตกลงเรตอัตราแลกเปลี่ยน จำนวนเงินและระยะเวลาไว้ หากค่าเงินในอนาคตแตกต่างจากที่ทำประกันไว้ ผู้ทำประกันจะสามารถเลือกว่าจะขอเคลมหรือไม่ก็ได้ การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ สำหรับฝากเงินสกุลต่างประเทศไว้ในบัญชีธนาคารเพื่อนำไปชำระค่าสินค้าได้โดยตรง เพื่อรับมือกับความผันผวนของค่าเงิน

นอกเหนือจากรูปแบบข้างต้น การทำการค้าด้วยการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่ค้าด้วยกันเอง ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน แม้ว่าในปัจจุบันเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังเป็นสกุลเงินที่นิยมใช้กำหนดราคาสำหรับชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศมากที่สุด โดยคิดเป็นราว 80% ของมูลค่าสินค้าส่งออกและนำเข้าทั้งหมดของไทย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีความผันผวนมากขึ้น ขณะที่ตลาดการค้าของไทยไม่ได้พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ มากเท่าในอดีต หากแต่มีตลาดการค้าใหม่ๆ ที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะจีน และอาเซียน

ดังนั้น การตั้งราคาซื้อขายสินค้าด้วยเงินบาทหรือเงินสกุลท้องถิ่นอื่นๆ นอกเหนือจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น ผู้ส่งออกตั้งราคาและรับชำระเป็นเงินบาทสำหรับสินค้าที่ส่งออกไป สปป.ลาว หรือผู้นำเข้าชาวไทยใช้เงินหยวนชำระค่าสินค้านำเข้าจากจีน จะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน เนื่องจากเงินสกุลท้องถิ่นส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ หยวนของจีน ริงกิตของมาเลเซีย รูเปียห์ของอินโดนีเซีย มักจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาท การใช้เงินสกุลท้องถิ่นจึงช่วยให้ผู้นำเข้า-ส่งออกบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้หาแนวทางช่วยให้การชำระเงินด้วยสกุลท้องถิ่นมีความสะดวกมากขึ้น โดยร่วมมือกับธนาคารกลางในภูมิภาค 4 ประเทศ คือ ธนาคารกลางมาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น คือ มาเลเซียริงกิต อินโดนีเซียรูเปียห์ หยวน และเยน ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผ่อนคลายระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมและเปลี่ยนเงินบาทกับเงินสกุลท้องถิ่นข้างต้น การส่งเสริมให้แบงก์พาณิชย์กำหนดเรตสกุลเงินบาทกับทั้ง 4 สกุลโดยตรง รวมถึงมีกลไกช่วยสร้างสภาพคล่องเงินสกุลท้องถิ่นให้เพียงพอรองรับธุรกรรมระหว่างประเทศ ทำให้สัดส่วนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นต่อการนำเข้า-ส่งออก ที่แม้จะยังไม่สูงมาก แต่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยแผนงานในระยะถัดไป แบงก์ชาติจะร่วมมือกับธนาคารกลางในภูมิภาคผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ร่วมมือกับแบงก์พาณิชย์เพื่อหาแนวทางอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม รวมถึงประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจ

สุดท้ายนี้ หวังว่าการใช้สกุลเงินท้องถิ่นจะเป็นทางเลือกในการชำระเงินสำหรับการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น และจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคธุรกิจ ตลอดจนช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในโลกท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ