ธปท.จับตาแก้หนี้บัตรเครดิต ผวาหนี้เสียหลังลดเงินผ่อนขั้นต่ำกลับสู่ปกติ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.จับตาแก้หนี้บัตรเครดิต ผวาหนี้เสียหลังลดเงินผ่อนขั้นต่ำกลับสู่ปกติ

Date Time: 4 ก.ค. 2566 08:05 น.

Summary

  • ธปท.รับลูกหนี้โควิดที่เคยได้รับความช่วยเหลือ ไปไม่รอดเมื่อมาตรการจบ กลับมาขาดส่ง และหนี้เป็นเอ็นพีแอลรอบใหม่ จับตาแก้ปัญหาลูกหนี้บัตรเครดิต ช่วงเพิ่มวงเงินขั้นต่ำกลับมาสู่เกณฑ์ปกติ หวังลดหนี้เสีย เร่งเครื่องเตรียมออก 3 มาตรการหลักแก้หนี้ครัวเรือน คาดสิ้น ก.ค.นี้ เห็นภาพชัดเจนขึ้น

Latest

ขายยากไม่พอ ยังถูก“กดราคา” Roddonjai ลุยตลาดรถมือสอง ตั้งราคาขายเองได้ คนซื้อไม่เจอ “รถโจร-รถซาก”

ธปท.รับลูกหนี้โควิดที่เคยได้รับความช่วยเหลือ ไปไม่รอดเมื่อมาตรการจบ กลับมาขาดส่ง และหนี้เป็นเอ็นพีแอลรอบใหม่ จับตาแก้ปัญหาลูกหนี้บัตรเครดิต ช่วงเพิ่มวงเงินขั้นต่ำกลับมาสู่เกณฑ์ปกติ หวังลดหนี้เสีย เร่งเครื่องเตรียมออก 3 มาตรการหลักแก้หนี้ครัวเรือน คาดสิ้น ก.ค.นี้ เห็นภาพชัดเจนขึ้น

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมทั้งความคืบหน้าการออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนว่า ธปท.ติดตามและผลักดันการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน ล่าสุดไตรมาส 1 ปี 66 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แม้ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 65 แต่ยังมีความเป็นห่วงอยู่ เพราะยังอยู่ในระดับสูง และสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

โดยหากพิจารณาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนพบว่า 73% อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.ประกอบด้วย 100% ของสินเชื่อบัตรเครดิต, 90% ของสินเชื่อบ้าน และ 65-70% ของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อรถยนต์ ขณะที่ อีก 27% ไม่อยู่ภายใต้การกำกับ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สหกรณ์ และสินเชื่อเพื่อการศึกษา ซึ่งสินเชื่อที่ ธปท.กังวลมากคือสินเชื่อที่ไม่ได้กู้เพื่อที่อยู่อาศัย หรือไม่ได้ใช้ประกอบอาชีพ รวมทั้งหนี้ที่กู้โดยกลุ่มเปราะบางมีรายได้น้อย แต่ธปท.ได้ประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อหาแนวทางลดหนี้ครัวเรือนร่วมกันแล้ว

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังได้ติดตามเอ็นพีแอลในส่วนของสินเชื่อรายย่อย ซึ่ง ธปท.มีความเป็นห่วง พบว่าเอ็นพีแอลหรือหนี้ที่ขาดส่งเกิน 90 วัน ของสินเชื่อรายย่อยไตรมาสแรก ปี 66 เพิ่มขึ้นเป็น 3.2% จาก 3.1% ของสินเชื่อรายย่อยรวมในไตรมาส 4 ปี 65 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือช่วงโควิด-19 เช่น พักหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ที่ให้ผ่อนช่วงแรกในอัตราต่ำหมดลง ทำให้คนส่วนหนึ่งที่รายได้ยังไม่ดีขึ้นกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ ขณะที่สินเชื่อที่จับตาเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) หรือสินเชื่อที่ขาดส่ง 1-2 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 6.9% เป็น 7.2% และอาจปรับขึ้นได้อีก จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ และกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง

“ธปท.ยืนยันว่าเอ็นพีแอลและเอสเอ็มยังอยู่ในภาวะที่บริหารจัดการได้ โดยเอสเอ็มที่เพิ่มขึ้นสูง ส่วนใหญ่ไม่ได้กลายเป็นเอ็นพีแอลทั้งหมด โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ลูกหนี้มีพฤติกรรมเลี้ยงหนี้ คือ ขาดส่งได้ไม่เกิน 3 เดือนเพื่อไม่ให้ถูกยึดรถ หรืออาจเว้นผ่อนบางงวดเพื่อนำไปใช้จ่ายอื่นก่อน เช่น ช่วงเปิดเทอม ส่วนหนี้เอสเอ็มบ้าน เพิ่มขึ้นในส่วนของลูกหนี้รายได้น้อยของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ขณะที่เอสเอ็มบัตรเครดิตต้องจับตาการปรับขึ้นของมาตรการ min-pay สินเชื่อบัตรเครดิตที่จะทยอยปรับเข้าสู่เกณฑ์ปกติ ที่ขณะนี้มีการผ่อนคลายอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำลงมาเหลือ 5% แต่จะปรับเป็น 8% ในปี 67 และ 10% ในปี 68”

ทั้งนี้ ธปท.ขอให้เจ้าหนี้เร่งสื่อสารการปรับเกณฑ์ดังกล่าว และเตรียมดูแลลูกหนี้ที่เพิ่มอัตราการจ่ายไม่ได้ โดยการโอนเปลี่ยนประเภทหนี้ปกติ ซึ่ง ธปท.ยังมีช่องทางอื่น เช่น คลินิกแก้หนี้กรณีหนี้เสีย ส่วนลูกหนี้ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่คาดว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขอลดค่างวด ขยายเวลาการชำระหนี้

น.ส.สุวรรณี กล่าวต่อถึงความคืบหน้าการเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนว่า มี 3 แนวทาง คือ 1.การออกเกณฑ์ Responsible Lending (RL) หรือการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ 2.กลไก Risk-based pricing (RBP) หรือให้สินเชื่อตามความเสี่ยง และ 3.มาตรการ Macroprudential policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือ ใช้จ่าย ไม่ก่อหนี้สินเกินตัว “ธปท.อยู่ระหว่างการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน ซึ่งตามแผน ในส่วนของ RL และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้ก่อน คาดว่า ช่วงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ ตามมาด้วยมาตรการ RBP แต่ MAPP ยังต้องหาแนวทางและเวลาที่เหมาะสม”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ