นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารไทยเครดิตได้ยื่นไฟลิ่ง กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในช่วงเช้าของวันนี้ (2 พ.ค.) โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในสิ้นปีนี้ โดย ไทยเครดิต นับเป็นธนาคารแรกที่เข้าเทรดในตลาดหุ้นไทยในรอบ 10 ปี
“ธนาคารไทยเครดิตได้ยื่นไฟลิ่งกับสำนักงาน ก.ล.ต.ในช่วงเช้าวันนี้ โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยการเข้าระดมทุนเป็นการต่อยอดความแข็งแกร่งของธนาคารในด้านการปล่อยสินเชื่อกับรายย่อย”
ทั้งนี้ ในการระดมทุนของธนาคารเพื่อต่อยอดธุรกิจให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยธุรกิจธนาคารนั้น ต้องใช้ทุนในการสร้างการเติบโต โดยจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก หรือ ไอพีโอ โดยคาดว่าจะมีจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด (รวมหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคาร และหุ้นที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม) ไม่เกิน 347,029,122 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.2 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคาร ภายหลังการทำ ไอพีโอ รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ กรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน โดยมี ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของการเข้าระดมทุนครั้งนี้
สำหรับการเข้าระดมทุนนั้น มองว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน โดยที่ผ่านมาไม่ได้มีหุ้นธนาคารเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มานาน ทั้งนี้ แม้การเข้าระดมทุนจะอยู่ในช่วงปลายปีที่มีหุ้นขนาดใหญ่เข้าระดมทุน แต่มองว่าจะไม่เป็นอุปสรรค เพราะประเมินว่าสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยเครดิต อยู่ระหว่างการยื่นปรับฐานะจากการเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยเป็นแบบฟูลไลเซนซ์ เพื่อไปสู่การเป็นสถาบันการเงินเต็มรูปแบบ เพื่อต่อยอดการให้บริการที่มากขึ้นในอนาคต โดยที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งของธนาคารไทยเครดิต คือ มีลิมิตในการปล่อยสินเชื่อ หากลูกค้ามีการเติบโตที่มากขึ้น และมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่เกิน SME ธนาคารจะไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ แต่หากมีการเปลี่ยนเป็นฟูลไลเซนซ์ จะช่วยให้ธนาคารสามารถให้สินเชื่อกับลูกค้าได้เพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยความคืบหน้าของการยื่นขอฟูลไลเซนซ์นั้น ธนาคารได้ยื่นขออนุญาตเปลี่ยนไลเซนซ์กับทางกระทรวงการคลังในช่วงเดือน ก.ย. ปี 2565 และจะใช้เวลาเปลี่ยนสถานะ 1 ปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.ปีนี้
สำหรับการเติบโตของธนาคาร ไทยเครดิต ในปี 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารมียอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับและรายได้ดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ) อยู่ที่ 121,298 ล้านบาท โดยเป็นเงินให้สินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี โดยมีกำไรสุทธิ 2,352 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม 30.9% ต่อปี ในระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565
ซึ่งการเติบโตที่ผ่านมาของธนาคาร มาจากการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มนาโนไฟแนนซ์ ที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน โดยธนาคารใช้จุดเด่นในการขยายสาขาด้านสินเชื่อกว่า 500 สาขา และใช้คนในชุมชนเป็นพนักงาน เพื่อให้เข้าถึงกับลูกหนี้ เพื่อให้ปล่อยสินเชื่อได้อย่างมีศักยภาพมากที่สุด.