นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2566 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 1,793 ล้านบาท ถือเป็นระดับทรงตัวหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยธุรกิจสินเชื่อยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องที่ระดับ 0.5% จากการขยายสาขา “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่กระจายโอกาสออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สร้างการเติบโตให้แก่สินเชื่อจำนำทะเบียนแก่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น รวมถึงสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ยังคงเติบโตได้ดีตามภาคเศรษฐกิจที่กลับมาขยายตัว หนุนให้รายได้ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยเติบโตไปพร้อมกับการปล่อยสินเชื่อใหม่
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินปรับตัวสูงขึ้น เป็นไปตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการนำส่งเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่กลับสู่อัตราเดิมที่ 0.46% ต่อปี จากที่เคยปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อ แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี พร้อมด้วยเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) สูงถึง 248% ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ในระดับแข็งแกร่งถึง 23.5% นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังมีมติจ่ายปันผลในอัตราหุ้นละ 7.75 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,205 บาท ในเดือน พ.ค.นี้
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ สำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,793 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 เป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น สอดรับกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่อัตราเดิมที่ 0.46% ต่อปี อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวสูงขึ้น 8.9% ตามนโยบายการลงทุนระยะยาว เพื่อการขยายตัวของธุรกิจ ในส่วนของรายได้รวมจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 5.1% จากรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตตามการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ และส่งผลให้ธุรกิจนายหน้าประกันภัยฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2.2% จากผลกำไรของเงินลงทุนเป็นหลัก ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนอ่อนตัวลง จากผลกระทบของภาวะตลาดทุนทั่วโลกที่ผันผวนรุนแรง รวมถึงธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับเงินให้สินเชื่อลดลง สืบเนื่องมาจากการปรับเกณฑ์ค่าธรรมเนียม
ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss - ECL) อยู่ในระดับต่ำที่จำนวน 125 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.2% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย โดยบริษัทยังคงมีเงินสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตอยู่ในระดับสูง พร้อมรองรับต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยอัตราส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) ที่สูงถึง 248.1% ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 16.4%
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 มีจำนวน 220,099 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากสิ้นปี 2565 จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อจำนำทะเบียน และสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเติบโตได้ดีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนขยายตัวผ่านช่องทาง “สมหวัง เงินสั่งได้” เป็นหลัก ซึ่งเติบโตต่อเนื่องอีก 6.4% ตามการเปิดเครือข่ายสาขาที่เพิ่มขึ้นในระหว่างไตรมาส ในส่วนของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) อยู่ที่ 2.1% ของสินเชื่อรวม ใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยบริษัทยังคงดำเนินนโยบายการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ และการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 23.5% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.8% และ 3.8% ตามลำดับ.