ธปท.มองดอกเบี้ย “ขาขึ้น” ต่ออีกระยะ หลังคาดเงินเฟ้อยังค้างอยู่ในระดับสูง จับตาผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุน–ขึ้นราคาสินค้า มองเศรษฐกิจไทยไปต่อได้ ส่งออกดีขึ้นปลายปี เกาะติดนโยบายประชานิยมพรรคการเมืองเร่งเงินเฟ้อ
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1 ของปี 2566 ซึ่งมีนักวิเคราะห์จากหลากหลายสถาบันเข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นว่า นโยบายการเงินของ ธปท.ยังคงเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากมองว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ยังส่งผลให้เกิดความหนืด หรืออัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงมาอยู่กรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อของ ธปท.แล้วในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
“ธปท.ยังคงต้องจับตาเงินเฟ้อที่คาดว่าจะค้างในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ไม่ได้ลดลงไปอยู่เหมือนในช่วงก่อนโควิด-19 เร็วนัก โดยยังคงต้องจับตาการส่งผ่านของต้นทุนสินค้า ซึ่งที่ผ่านมามีการอั้นไว้ในระดับหนึ่งว่าจะส่งผลต่อราคาสินค้าอย่างไร ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีทำให้ขึ้นราคาสินค้าได้ โดยการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท.ก็ทำให้การขึ้นราคาสินค้าอยู่ในระดับที่ไม่กระทบประชาชนมากไป อย่างไรก็ตาม คงยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะไปสูงสุดเมื่อไร ขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งที่คาดเดาได้และคาดเดาไม่ได้”
นายปิติ กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายของพรรคการเมืองในขณะนี้ ซึ่งอาจจะมีนโยบายที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้นนั้น จะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนนั้น จะต้องรอนโยบายจริงที่ออกมาก่อนและพิจารณากันต่อไป โดยในช่วงโควิด-19 นโยบายการเงิน และการคลัง จำเป็นต้องผ่อนคลายเพื่อใช้เป็นมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการประสานงานกันที่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นโยบายการเงินเริ่มถอนคันเร่งเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่นโยบายการคลังก็เริ่มถอนคันเร่งเช่นกัน โดยภาพรวมเศรษฐกิจ จะต้องเปลี่ยนมาดูแลกลุ่มเปราะบาง และติดตามการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมทั้งผลกระทบของดอกเบี้ยต่อประชาชนและภาคธุรกิจ
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% ในปีนี้และ 3.8% ในปี 2567 โดยมีภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงส่ง ขณะที่การส่งออกสินค้า มีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยภาพรวมของการส่งออกปีนี้จะหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน 0.7% โดยปัจจัยที่ต้องจับตาคือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดจากเงินเฟ้อที่ยังสูง และปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป รวมทั้งค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการบริโภคมากกว่าคาด
ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงตามที่ประเมินไว้ และเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงไตรมาส 2 ปี 66 แต่ยังต้องจับตาโดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งมีความเสี่ยงจากแรงกดดันจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง และอาจมีต้นทุนบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านในช่วงก่อนหน้า รวมถึงต้นทุนบางประเภทยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะราคาพลังงานในประเทศ
“ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน มี.ค.ราคาอาหารสำเร็จรูปยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ตามต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง และยังมีสินค้าและบริการบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านต้นทุนในช่วงก่อนหน้า จึงต้องจับตาต่อไป”.