ธปท.สุดห่วง! ครัวเรือนหนี้ท่วม ธุรกิจใหญ่กำไรลด-เอสเอ็มอียังเปราะบาง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.สุดห่วง! ครัวเรือนหนี้ท่วม ธุรกิจใหญ่กำไรลด-เอสเอ็มอียังเปราะบาง

Date Time: 11 เม.ย. 2566 06:40 น.

Summary

  • ธปท.ห่วงภาคครัวเรือนเปราะบาง ยังมีหนี้สูง ธุรกิจขนาดใหญ่มีความสามารถชำระหนี้และทำกำไรลดลง จับตาภาคส่งออกที่กำลังซื้อลด สินเชื่อประกันทะเบียนที่เริ่มเห็นหนี้เสียเพิ่ม ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัล

Latest

เคาะมาตรการดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 7 หมื่นล้าน ปล่อยสินเชื่อสร้างอาชีพ-สร้างบ้าน

ธปท.ห่วงภาคครัวเรือนเปราะบาง ยังมีหนี้สูง ธุรกิจขนาดใหญ่มีความสามารถชำระหนี้และทำกำไรลดลง จับตาภาคส่งออกที่กำลังซื้อลด สินเชื่อประกันทะเบียนที่เริ่มเห็นหนี้เสียเพิ่ม ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงระดับปานกลาง หลังจำนวนผู้เล่น และปริมาณซื้อขายลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยรายไตรมาส Financial Stability Snapshot ประจำไตรมาสแรกของปีนี้ โดยครอบคลุมประเด็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่สำคัญ คือ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (non-bank) ภาคสหกรณ์ ตลาดการเงิน ต่างประเทศ และสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้สาธารณชนรับทราบถึงสถานะและความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย

ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ และได้รับผลดีจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศไม่ได้ส่งผลต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจไทยมีความเชื่อมโยงอย่างจำกัดกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่เกิดปัญหา รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง

นอกจากนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ ยังสามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ผลประกอบการระบบธนาคารพาณิชย์กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 non-bank ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ยังมีฐานะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อที่เห็นสัญญาณที่ด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ โดยเฉพาะสินเชื่อประกันทะเบียนรถ

อย่างไรก็ตาม ธปท.มีความเป็นห่วงภาคครัวเรือนที่ยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้สูง แม้รายได้เริ่มฟื้นตัวและเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้วโดยยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เปราะบาง โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้า และกลุ่มที่มีหนี้สูง นอกจากนั้น ยังพบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่มีความสามารถในการชำระหนี้และทำกำไรลดลง แต่ยังมีสภาพคล่องและฐานะการเงินในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยยังต้องติดตามผลกระทบจากความต้องการซื้อในตลาดโลกที่ชะลอลง ที่มีต่อภาคการผลิตเพื่อส่งออก เช่น เหล็ก แผงวงจรและเซมิคอนดักเตอร์ ยางและพลาสติก รวมถึงติดตามบางบริษัทในกลุ่มก่อสร้าง

ด้านธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) แม้รายได้ทยอยฟื้นตัว แต่คุณภาพสินเชื่อและฐานะการเงินยังเปราะบาง ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของกลุ่มปิโตรเคมี เหล็ก สิ่งทอ ปิโตรเลียม และขนส่งสินค้าที่ความต้องการซื้อในตลาดโลกชะลอลง รวมถึงติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่ความต้องการซื้อชะลอลงหลังสิ้นสุดการผ่อนคลายการให้สินเชื่อ (LTV) และยังมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น สหกรณ์ออมทรัพย์โดยรวมยังมีสภาพคล่องเพียงพอ แต่ต้องติดตามบางแห่งที่อาจสะสมความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากตลาดการเงินมีความผันผวนสูง

ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังเข้มแข็ง จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นจากดุลบริการตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ และด้านสุดท้าย สินทรัพย์ดิจิทัล มีความเสี่ยงและนัยของเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากจำนวนบัญชีที่มีการใช้งาน และปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยลดลงต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง เพราะตลาดมีความผันผวนสูง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ