กรุงไทยเพิ่มงบลงทุนไอที 1.2 หมื่นล้าน ลุยสาขาดิจิทัล-Virtual Bank

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กรุงไทยเพิ่มงบลงทุนไอที 1.2 หมื่นล้าน ลุยสาขาดิจิทัล-Virtual Bank

Date Time: 5 เม.ย. 2566 08:25 น.

Summary

  • แบงก์กรุงไทยต่อยอดดิจิทัลแบงก์กิ้ง ทุ่มงบลงทุนไอทีอีก 12,000 ล้านบาท จากปกติเฉลี่ยลงทุนปีละ 8,000 ล้าน จ่อคิวเปิดให้บริการ Wealth-Tech แพลตฟอร์มเจาะตลาดเศรษฐีรุ่นใหม่

Latest

ออมสินเปิดแพลตฟอร์มเงินดีดี ปล่อยกู้คนกู้แบงก์ไม่ผ่าน

แบงก์กรุงไทยต่อยอดดิจิทัลแบงก์กิ้ง ทุ่มงบลงทุนไอทีอีก 12,000 ล้านบาท จากปกติเฉลี่ยลงทุนปีละ 8,000 ล้าน จ่อคิวเปิดให้บริการ Wealth-Tech แพลตฟอร์มเจาะตลาดเศรษฐีรุ่นใหม่ พร้อมรุกปล่อยสินเชื่อร้านธงฟ้า แย้มปีหน้ามีลุ้นผนึกกำลังเอไอเอส เปิดตัว Virtual Bank ส่วนแผน 5 ปี เน้นองค์กรเติบโตอย่างมั่นคง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานปี 2566 ว่า มุ่งเน้นต่อยอดสู่องค์กรดิจิทัล และนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า และเตรียมปรับรูปแบบสาขาสู่ดิจิทัล นำร่อง 20 แห่ง ให้พนักงานสาขาให้บริการผ่านแท็บเล็ต โดยตั้งงบลงทุนด้านไอทีในปีนี้ไว้ที่ 12,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ใช้งบลงทุนไอทีปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท “ปีนี้กรุงไทยยังเตรียมเปิดให้บริการ Wealth-Tech แพลตฟอร์มใหม่ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และตลาดกลุ่มแมส ซึ่งยังเติบโตได้สูงมาก”

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ร่วมกับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสนั้น รูปแบบจะเป็นการตั้งบริษัทใหม่ถือหุ้นร่วมกัน ขณะนี้รอความชัดเจนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าภายใน 2-3 เดือน จากนั้นหากได้ข้อสรุปร่วมกันกับเอไอเอสแล้ว คาดว่าการเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดในปี 2567

สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 3-5% จากปีก่อน 4.3% พร้อมต่อยอดปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีรายย่อย ในกลุ่มร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ที่มีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านร้านค้า ที่ธนาคารติดตั้งเครื่องรูดบัตร (อีดีซี) และเปิดบริการแอปเป๋าตุง พร้อมปล่อยสินเชื่อออนไลน์ผ่านแอปเป๋าตัง 8,000-10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ปล่อยกู้ 5,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลนั้น ปีนี้ตั้งเป้าบริหารจัดการให้ต่ำกว่า 3.5% จากปีก่อน 3.26% ด้านการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อบริหารหนี้ทั้งเอ็นพีแอลและสินทรัพย์รอการขายหรือเอ็นพีเอ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยคุยกับพันธมิตร 3-4 ราย คาดดำเนินการได้ภายในปีหน้า

ธนาคารยังได้กำหนดแผนงาน 5 ปี (2569-2570) เพื่อเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน” เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคง ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม และภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้ 1.ปลดล็อกศักยภาพในการสร้างมูลค่าจากการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้า (X2G2X) เร่งต่อยอดยุทธศาสตร์ X2G2X ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่างๆ และมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คู่ค้าของลูกค้า 2.ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็น Process Digitalization

3.เปิดตัวแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างการเติบโตในมิติใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร 4. สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG และการก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net zero สนับสนุนประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างการกระจายรายได้ 5. พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานแห่งอนาคต เร่งสร้างการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ 6.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และ Digitalization อย่างต่อเนื่อง 7. ปฏิรูปวัฒนธรรม และปลูกฝังวิธีการทำงานแบบใหม่เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคล่องตัว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ