นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายได้ในปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน แม้การจัดเก็บรายได้ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ก็ตาม
ส่วนแนวโน้มความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มี 624,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากการเกินดุลเงินสดของภาคงบประมาณเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ระดับเงินคงคลังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 สะท้อนถึงสภาพคล่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังคงอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ ความเสี่ยงด้านหนี้ ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มี 10,373,937 ล้านบาท คิดเป็น 60.41% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวในช่วงวิกฤติโควิด-19
สำหรับความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ได้แก่ 1.เงินกองทุนประกันสังคมปรับลดลงจากปีก่อน จากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ลดลง การลดอัตราการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน และจำนวนผู้ประกันตนลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ 2.การเพิ่มอัตราเงินสมทบของรัฐเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และการเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้สมาชิกในปี 2566 อาจทำให้มีความเสี่ยงที่รัฐจะต้องชดเชยส่วนต่าง หาก กอช.ไม่สามารถบรรลุอัตราผลตอบแทนตามที่รับประกันไว้ 3.ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิติดลบจำนวนมาก แต่ในปีนี้คาดว่าฐานะกองทุนน้ำมันฯ จะคลี่คลายและไม่เป็นภาระงบประมาณในอนาคต 4.ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปีบัญชี 2565 ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19 เงินนำส่งรายได้ในภาพรวมลดลง
5.ฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควรติดตามการด้อยคุณภาพหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการพักชำระหนี้ เกษตรกรที่สิ้นสุดลง 6.ฐานะการเงินธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมอยู่ในระดับแข็งแกร่ง 7.ภาคประกันภัยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด โดยยอดเงินขอรับชำระหนี้อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับจำนวนเงินกองทุนประกันวินาศภัย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในวงจำกัด 8.รายได้ขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) ปรับตัวดีขึ้นในปีงบประมาณ 2565.