เปิดกลยุทธ์ไทยเครดิต ทำอย่างไรถึงช่วยลูกค้าพ้นหนี้นอกระบบ

Personal Finance

Banking & Bond

Tag

เปิดกลยุทธ์ไทยเครดิต ทำอย่างไรถึงช่วยลูกค้าพ้นหนี้นอกระบบ

Date Time: 29 มี.ค. 2566 07:58 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Latest


หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่รุนแรงอย่างมากในสังคมไทย ด้วยปัจจัยสำคัญ คือ การเข้าไม่ถึงบริการกับสถาบันการเงินทำให้คนกลุ่มใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหา ทั้งการเก็บดอกเบี้ยในระดับที่สูงมาก ในระดับที่มากกว่า 20% ต่อเดือน ทำให้ผ่อนยังไงก็ใช้หนี้ไม่หมด นับจุดอ่อนสำคัญ คือ การเข้ากลุ่มประชากรฐานรากเข้าไม่ถึงการบริการสถาบันการเงิน


อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เห็นโอกาสช่องว่างดังกล่าวในการเข้าทำการตลาดในกลุ่มฐานราก โดยมองว่า ทิศทางของหนี้นอกระบบยังเติบโตอย่างมาก ไม่มีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาในตลาดดังกล่าว โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดในปัจจุบันมากกว่า 20%


นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย หรือ TCRB เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้นอกระบบในประเทศไทยมีความรุนแรงมาก โดยสะท้อนจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เคยทำการสำรวจไว้ก่อนมีสถานการณ์ Covid-19 โดยมูลค่าของหนี้นอกระบบในสังคมไทยอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท และถึงปัจจุบันน่าจะมีขนาดที่ใหญ่มากขึ้น


“ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะในด้านของดอกเบี้ยที่สูงมากอาจจะสูงในระดับ 20% ต่อเดือน และการที่เจอปัญหา Covid-19 ทำให้โอกาสที่หนี้นอกระบบนั้นมีมากยิ่งขึ้น”


รากของปัญหาหนี้นอกระบบ คือ การกู้เงินระยะสั้นเพื่อมาแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่าย เมื่อเกิดการกู้ระยะสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลต่อระยะยาว ซึ่งการแก้ไขปัญหานั้นไม่จบ โดยสิ่งสำคัญของปัญหาหนี้คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ อย่างที่ผ่านมาเกิดการชะลอตัวในบางกลุ่มอุตสาหกรรม


เช่น ที่ผ่านมาภาคการส่งออกมีปัญหา ทำให้โรงงานต้องลดกำลังการผลิต ดังนั้นโรงงานก็ไม่มีโอทีให้กับลูกจ้าง ทำให้รายได้พนักงานน้อยลง ส่งผลไปยังคนใช้เงินในตลาดสดน้อยลง พ่อค้าแม่ค้าก็กระทบด้วย ดังนั้นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา คือ เศรษฐกิจต้องดีรายได้ของประชาชนนั้นต้องเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีก็จะเป็นปัญหาต่อไปไม่รู้จบ

ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิต เห็นโอกาสในการทำตลาดในกลุ่มดังกล่าว มองว่าปัญหาของประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบเกิดจากการไม่มีเครดิต หรือหลักฐานเพื่อใช้ในการกู้เงินกับสถาบันการเงิน ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างเกิดขึ้น ไทยเครดิตเลยทำการตลาด ชูจุดเด่นไม่ต้องใช้สลิปเงินเดือน หรือ สเตทเมนต์ ในการกู้เงิน และไม่เช็กประวัติเครดิตบูโร โดยธนาคารมีพนักงานทั้งสิ้น 4,000 คนและมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่มีหน้าที่ในการพิจารณาเครดิตลูกค้า หรือที่เรียกว่า CA ที่มีกว่า 1,400 คนในการหาข้อมูล 


โดย CA จะมีหน้าที่ทำความรู้จักคนในชุมชน หรือ ในตลาดเพื่อประเมินเครดิตของลูกค้าก่อนจะปล่อยสินเชื่อ CA ต้องเก็บข้อมูลการค้าขาย ทั้งยอดขายและการเติบโต พฤติกรรมของลูกค้า เพื่อมาประกอบการประเมินเครดิต และนำสู่การปล่อยสินเชื่อในอนาคต

“CA คือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ พวกเขาจะมีหน้าที่ในการทำความรู้จักลูกค้า และดูว่ามีความเสี่ยงในการปล่อยเงินกู้หรือไม่ หากเรารู้จักลูกค้าดีพอแม้จะไม่มีหลักฐานทางการเงินเราก็สามารถปล่อยกู้ได้ หรือในกลุ่มเอสเอ็มอีที่หลายครั้งเราพบธุรกิจดีๆ เราก็เข้าให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและช่วยให้เขาเติบโตได้”


ทั้งนี้การใช้พนักงานในการลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงผู้กู้นั้นเป็นกลยุทธ์ที่สร้างความแตกต่างจากสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เลือกที่รอผู้กู้เงิน แต่เราเลือกที่จะเข้าหาลูกค้าในพื้นที่จริง ทำให้เราประเมินการปล่อยกู้ได้มีประสิทธิภาพ โดยธนาคารได้เริ่มดำเนินธุรกิจด้านนี้ในปี 2555 ที่มีลูกค้าจาก 0 ราย จนถึงปัจจุบันมีลูกค้า ในกลุ่มลูกหนี้นาโนไฟแนนซ์ มากกว่า 2.5 แสนราย มูลค่าพอร์ตรวมกันกว่า 2 หมื่นล้านบาท ลูกค้าที่กู้เงินจากไทยเครดิต 60% ไปปิดหนี้นอกระบบ


ในขณะที่ฐานลูกหนี้ไมโคร เอสเอ็มอี ปัจจุบันมียอดการกู้เงินเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 7 ล้านบาท มีมูลค่าพอร์ตรวมกันกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท

นอกจากจะเน้นการปล่อยกู้แล้ว บริษัทยังเดินหน้าในการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านโครงการ ตังค์โต Know-how ที่ใช้พนักงานของไทยเครดิต ให้ความรู้ทางการเงินกับลูกค้าเพื่อซึ่งจะช่วยแก้ปัญหานี้ในระยะยาวได้ โดยจากสถิติที่เราเก็บพบว่า จากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารและการให้ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ โดยกลุ่มลูกค้าของเราตอน 2558 ที่ 60 % ใช้หนี้นอกระบบ ตอนนี้เหลือประมาณ 5% เท่านั้น เป็นการปรับเปลี่ยนจากลูกค้านอกระบบมาอยู่ในระบบ เป็นการสร้างความโปร่งใส เป็นแนวทางเดียวกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. ที่เอาหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบ

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการเติบโตตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนของลูกหนี้ที่เข้ามากู้กับธนาคารมากกว่าขึ้น โดยปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 7,000 รายต่อเดือน โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาพบว่าความต้องการสินเชื่อนั้นเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้ในการลงทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น และอาจสะท้อนถึงหนี้นอกระบบที่มีความรุนแรงมากขึ้นอีกครั้ง ดังนั้นการให้ความรู้ทางการเงิน จะเป็นการช่วยลูกค้าพ้นจากความเป็นหนี้ระยะยาว