สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในประเทศไทยเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย หลายๆคนแทบจะไม่ต้องหยิบเงินสดออกจากกระเป๋าเลยทีเดียวเมื่อต้องชำระเงินซื้อสินค้า ซื้ออาหาร ขนม เครื่องดื่มตามสองข้างทาง หรือขึ้นแท็กซี่ นับว่าสะดวกมากเพียงแค่ใช้เวลาแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น
ด้วยเทคโนโลยีทางการเงินที่จะเข้ามาทดแทนผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิตและบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e–payment) ยิ่งในยุคการแพร่ระบาดที่คนไทยหันมาใช้บริการกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจนคุ้นเคยกันในทุกวันนี้โดยเฉพาะการใช้สมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชันสแกนจ่ายง่ายๆ
จนยอดการใช้ชำระเงินแบบไร้เงินสดในประเทศไทยติดอันดับยอดขายใช้จ่ายระดับท็อปๆของโลก จากรายงานของ ACI Worldwide ที่เก็บข้อมูลการทำธุรกรรมการชำระเงินตามเวลาจริง (real-time payment transactions) ล่าสุดซึ่งเป็นการจัดเก็บข้อมูลในปี 2564 ปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับสามของ 10 ประเทศที่มีตลาดการชำระเงินตามเวลาจริงที่ใหญ่ที่สุด มีการชำระเงินแบบเรียลไทม์ถึง 9,700 ล้านครั้ง และเติบโตจากปีก่อนหน้าที่อยู่ลำดับสี่ 5,241 ล้านครั้ง
โดย 10 ประเทศที่ชำระเงินแบบเรียลไทม์สูงสุด 1. อินเดีย 46,800 ล้านครั้ง 2.จีน 18,500 ล้านครั้ง 3.ไทย 9,700 ล้านครั้ง 4.บราซิล 8,700 ล้านครั้ง 5.เกาหลีใต้ 7,400 ล้านครั้ง 6.ไนจีเรีย 3,700 ล้านครั้ง 7.สหราชอาณาจักร 3,400 ล้านครั้ง 8. สหรัฐฯ 1,800 ล้านครั้ง 9.ญี่ปุ่น 1,700 ล้านครั้ง และ 10.ตุรเคีย 1,400 ล้านครั้ง ภาพรวมธุรกรรมแบบเรียลไทม์ทั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 118.3 พันล้านในปี 2564 เพิ่มขึ้น 64.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ เหตุผลความนิยมของการใช้งานก็คือการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การเร่งการใช้ของหลายๆประเทศที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานไปสู่การทำธุรกรรมดิจิทัลและการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์ทั้งก่อนและระหว่างการเกิดโควิด-19
สำหรับประเทศไทยเรา หลังจากรัฐบาลได้เปิด “พร้อมเพย์” ช่วยให้การรับเงินโอนและโอนเงินเป็นเรื่องง่าย เพียงใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ แทนเลขที่บัญชีธนาคาร ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง โมบายแบงกิ้ง เครื่องเอทีเอ็ม อำนวยความสะดวกให้ประชาชนตามแผนเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล
ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ก็ได้ยืนยันถึงการเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง โดยให้ข้อมูลว่า การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคารเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ในปีที่ผ่านมา แอป K Plus มีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านรายสมัครใช้แอป ซึ่งจำนวนนี้มีผู้ใช้หน้าใหม่กว่า 1 ล้านคน ความนิยมแพลตฟอร์มดิจิทัลทำให้ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มภาคภูมิ โดยปัจจุบันธุรกรรมของธนาคารกสิกรไทย เป็นธุรกรรมที่ทำผ่านระบบออนไลน์ถึง 98%
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่แอป K Plus เป็นช่องทางที่มียอดเงินโอนมากกว่ายอดเงินโอนผ่านช่องทางอื่นๆทั้งหมดของธนาคารรวมกัน ด้วยเทคโนโลยีของธนาคาร ทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 1 ล้านรายต่อชั่วโมง และยอดเงินที่โอนผ่านแอปดังกล่าวสูงถึงเกือบ 10 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา และเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำของธนาคารกสิกรไทยในฐานะธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งของไทย
ขณะที่เป้าหมายของธนาคารสู่การเป็นผู้ให้บริการธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดในภูมิภาค แน่นอนว่าจะต้องให้ความสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้บริการ K Plus โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการป้องกันและตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติควบคู่ไปกับการใช้งานที่สะดวกและเหมาะสมกับลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคาร
นางสาวขัตติยา ระบุด้วยว่า ความสำเร็จส่วนหนึ่งเป็นผลจากประกาศแผนการเป็น “ชาเลนเจอร์แบงก์” เมื่อ 6 เดือนก่อน มาสู่ในองค์กร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารได้จากข้อมูลคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการธนาคารหรือเข้าถึงได้ยาก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 ล้านคน ด้วยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้
อาทิ การร่วมกับ LINE เพื่อให้บริการธนาคารผ่านทางโซเชียลมีเดียเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 1.4 ล้านราย มียอดสินเชื่อปล่อยกู้ผ่าน LINE BK กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการให้กู้ยืมแก่ลูกค้าที่ไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีเงินเดือนประจำ เช่น คนทำงานอิสระและผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยอื่นๆ จากก่อนหน้านี้กลุ่มดังกล่าวมักมีปัญหาจากการขอสินเชื่อเพราะไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีสลิปเงินเดือนมาเป็นหลักฐาน ซึ่งต้องหันไปกู้นอกระบบแทน
โดยผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการได้แม้ไม่มีบัญชีธนาคาร โดยจะทราบผลการอนุมัติสินเชื่อภายใน 24 ชั่วโมง อีกทั้งเป็นการนำคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบธนาคาร ทำให้มีประวัติเครดิต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยับขยายกิจการในอนาคตได้ด้วย โดย LINE BK จะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาวิเคราะห์ข้อมูล และข้อมูลอื่นๆ เพื่อประเมินความสามารถและความตั้งใจการชำระเงินคืนของผู้กู้
“ชาเลนเจอร์แบงก์” เป็นปรากฏการณ์ดิสรัปชันที่มาท้าทายธุรกิจธนาคาร ซึ่งเคแบงก์ได้ใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อหลอมรวมดีเอ็นเอเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม.
วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th