ธปท.ชี้ SVB ล้มไม่กระทบแบงก์ไทย เหตุลงทุนสตาร์ทอัพไม่ถึง 1% จับตาค่าเงินบาทอาจผันผวน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ธปท.ชี้ SVB ล้มไม่กระทบแบงก์ไทย เหตุลงทุนสตาร์ทอัพไม่ถึง 1% จับตาค่าเงินบาทอาจผันผวน

Date Time: 13 มี.ค. 2566 16:18 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Latest


นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า กรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่ประสบปัญหา ซึ่ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) มีคำสั่งให้ปิดกิจการเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับฝากเงินและการปล่อยกู้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มกองทุน venture capital บริษัท fintech และบริษัท start-up ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ทำให้ลูกค้าของ SVB ระดมทุนได้ยาก หรือมีต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องถอนเงินฝากที่ SVB เพื่อใช้ในธุรกิจ และบางกลุ่มถอนเงินฝากเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ SVB ต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำลงมากเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เกิดผลขาดทุน กระทบฐานะของธนาคารและความเชื่อมั่น จนต้องถูกควบคุมโดย FDIC ตามที่เป็นข่าว

จากข้อมูลในตลาดการเงินโลก ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารโดยรวมปรับลดลงและราคาในการประกันความเสี่ยงปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อการลุกลามไปยังธนาคารอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเทคโนโลยีและคริปโทเคอร์เรนซี อย่างไรก็ดีการที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศจะจ่ายคืนผู้ฝากทุกรายเต็มจำนวน และจัดตั้ง Bank Term Funding Program เพื่อปล่อยสภาพคล่องให้แก่ระบบธนาคาร น่าจะช่วยลดโอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามจนส่งผลอย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่างๆ อย่างใกล้ชิด

สำหรับสถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มี ธพ. ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่ม ธพ. ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนของกลุ่ม ธพ. ที่สำคัญพบว่า ธพ. ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของ ธพ. ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท

ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ venture capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม ธพ. ต่อเงินฝากของประชาชน

ด้านค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป

จิตตะ เวลธ์ ชี้เป็นโอกาสลงทุน

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด (บลจ.) เปิดเผยถึงวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯ ว่า การปิดธนาคาร SVB และธนาคาร Silvergate สร้างผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจโลก เพราะภาคธนาคารมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นทางการสหรัฐฯ จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยได้ออกมาตรการช่วยเหลือทันทีในคืนวันอาทิตย์ของสหรัฐฯ หรือช่วงเช้าของประเทศไทย ทำให้โอกาสการลุกลามของปัญหานี้อยู่ในวงจำกัด

ต่างจากกรณีการล้มของ Lehman Brothers ในปี 2008 และมาตรการที่ออกมาอย่างรวดเร็วจะเข้ามาเสริมความเชื่อมั่นของลูกค้าว่าหากเกิดเหตุการณ์แบงก์ขาดสภาพคล่องไม่สามารถจ่ายคืนเงินฝากได้ กองทุนจะเข้ามาช่วยเหลือเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง เพื่อให้แบงก์ยังคงดำเนินการถอนคืนเงินฝากได้ตามปกติ ลดโอกาสเกิดปัญหา Bank Run ได้


ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ออกมาตรการช่วยเหลือจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลสภาพคล่องของธนาคารโดยกองทุนสามารถช่วยเหลือธนาคารที่มีปัญหาดังกล่าวในอนาคตได้ กองทุนพิเศษนี้จะช่วยให้ลูกค้าธนาคารได้รับเงินเงินฝากคืนได้ทั้งหมด ควบคุมผลกระทบในวงจำกัดทำให้บริษัทที่ฝากเงินกับธนาคารเหล่านี้สามารถถอนเงินนำไปใช้ในการดำเนินกิจการปกติได้


แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากธุรกรรมเงินฝากแล้ว บริษัทที่มีธุรกรรมกับธนาคารในด้านอื่นๆ อาจจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันทางการสหรัฐฯ กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อขายสินทรัพย์ของธนาคาร และเปิดโอกาสในการเข้าซื้อธนาคารจากทุนต่างชาติ เมื่อการดำเนินการของทางการสหรัฐฯ เสร็จสิ้น ธุรกรรมด้านอื่นๆ จะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

สัปดาห์ที่แล้วตลาดหุ้นร่วงหนัก โดยเฉพาะ Nasdaq ปรับร่วงกว่า 4.71% แต่เช้าวันที่ 13 มีนาคม ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสหรัฐฯ ปรับขึ้นทั่วหน้า หลังจากทางการสหรัฐฯ มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับลดลง ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของปัญหานี้มาจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็วของ FED ดังนั้น FED อาจจะต้องทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนใดบ้าง ซึ่งปัจจุบันตลาดได้คาดการณ์ว่า FED อาจปรับลดความร้อนแรงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ส่งผลดีต่อ Sentiment การลงทุน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ