ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ออก “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยที่ช่วยให้ภาคครัวเรือนปรับตัวสู่โลกใหม่ได้ “บางขุนพรหมชวนคิด” ในวันนี้ จึงขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจของแนวทางดังกล่าวให้กับท่านผู้อ่านค่ะ
ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และรุนแรงขึ้นในช่วงโควิด ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่จะเน้นแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดให้ผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว มาตรการก็ได้ปรับมาเน้นแก้หนี้ระยะยาวแต่อาจยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาหนี้ที่สะสมมานานได้ หากไม่ทำอะไรเพิ่มเติมอาจฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า รวมถึงเป็นระเบิดเวลาที่อาจปะทุขึ้นจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้
ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของแบงก์ชาติจะประกอบด้วย 3 หลักการสำคัญ ด้านแรก คือ ต้องแก้หนี้อย่างครบวงจร เหมาะกับทั้งลักษณะและสาเหตุในแต่ละช่วง ตั้งแต่ก่อนจะเป็นหนี้ ช่วงกำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และเมื่อเกิดปัญหาจ่ายหนี้ไม่ไหว ด้านที่สองคือ ต้องแก้หนี้อย่างถูกหลักการ เว้นสิ่งที่ไม่ควรทำ และทำสิ่งที่ควรทำในเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงในระยะยาว เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาที่สะสมมานาน เกิดจากหลายสาเหตุ จึงต้องอาศัยมาตรการที่หลากหลายและทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยหลักการคือ ต้องแก้ให้ตรงจุด ไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับลูกหนี้ในอนาคต ไม่ลดโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ และทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องร่วมมือและมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขหนี้ ด้านที่สามคือ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาครัฐ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ครบทุกประเภท
ภายใต้หลักการแก้หนี้อย่างยั่งยืนนี้ แบงก์ชาติมองว่าสิ่งที่ต้องเร่งทำ เริ่มจาก การบรรเทาภาระหนี้เดิมทั้งกลุ่มที่มีหนี้เสียในปัจจุบัน เพื่อให้ลูกหนี้กลับมาเดินต่อได้ และกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรังแต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย เพื่อให้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น โดยกลุ่มที่มีหนี้เสียแบงก์ชาติต้องเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว สร้างคนกลางทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ รวมถึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐผลักดันการแก้กฎหมายให้ลูกหนี้มีทางเลือกเข้ากระบวนการฟื้นฟูหรือขอล้มละลายได้ด้วยตนเองในกรณีที่ลูกหนี้ไปต่อไม่ไหว สำหรับกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง เช่น ลูกหนี้ที่จ่ายขั้นต่ำ หรือจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นติดต่อกันเป็นเวลานาน แบงก์ชาติจะผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้กลุ่มนี้ โดยเริ่มจากหนี้บัตรกดเงินสด ที่เป็นปัญหาของกลุ่มเปราะบางก่อน
เมื่อแก้ปัญหาหนี้เดิมแล้ว ต้องดูแลการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ไม่กลับมาติดกับดักหนี้อีก โดยแบงก์ชาติจะออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ เช่น ไม่โฆษณาที่กระตุ้นการกู้เงินจนเป็นหนี้เกินตัว ต้องให้ข้อมูลสำคัญครบถ้วนตลอดวงจรหนี้ และกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ดอกเบี้ยสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีวินัยการเงินดีกว่า ได้เงื่อนไขสินเชื่อดีกว่า
ท้ายสุดคือ ดูแลให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาฐานข้อมูลด้านรายได้และพฤติกรรมการจ่ายเงินเพื่อให้เจ้าหนี้ใช้ประเมินความเสี่ยงและกล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ดอกเบี้ยสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ โดยกลุ่มเสี่ยงสูงจะสามารถกู้ในระบบได้ ด้วยดอกเบี้ยที่สูงกว่ากลุ่มเสี่ยงต่ำ ไม่โดนผลักออกนอกระบบ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้ของไทยจะเป็นการเดินทางที่มีอุปสรรคและใช้เวลานาน แต่ทุกคนเห็นพ้องกันว่าต้องไปให้ถึงจุดหมาย การตั้งเข็มทิศให้ตรงกันและเดินไปพร้อมกันทุกภาคส่วนจะช่วยให้แก้ไขปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืนค่ะ.