นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มอบนโยบายให้ กอช.เร่งขยายร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อดึงกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาเข้ามาออมเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการออมของเยาวชนมีจำนวนน้อย อีกทั้งมีแนวโน้มสร้างหนี้สูง กอช.จึงเข้าไปส่งเสริมให้ความรู้ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย เพื่อให้เริ่มออมได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี ขณะเดียวกัน จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันการจัดทำหลักสูตรการเรียน วิชาการออมขึ้นมาเป็นวิชาบังคับ เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีวินัยในการใช้เงิน และหันมาออมเพิ่มขึ้น “การออมเพื่อการเกษียณเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยรัฐบาลมีนโยบายเรื่องลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ในการพัฒนาระบบการออมให้มีประสิทธิภาพและเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม”
นางสาวจารุลักษณ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 ม.ค.66 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ โดยปรับเพิ่มให้สมาชิก กอช.จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และให้รัฐจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำหรับสมาชิกตามช่วงอายุไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี คาดว่าจะมีประกาศลงราชกิจจาฯให้มีผลบังคับใช้ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.66 ทั้งนี้ การปรับเพิ่มเงินสะสมและเงินสมทบจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงคนให้มาออมได้มากขึ้น โดยปัจจุบัน กอช.มีสมาชิก 2.57 ล้านคน และจะทำให้ได้ถึง 3 ล้านคนโดยเร็วที่สุด ซึ่งกระทรวงการคลังประเมินว่าจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้นจะทำให้สมาชิก กอช.มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น โดยสมาชิก กอช.ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญราว 12,000 บาทต่อเดือน กรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดาน โดยเงินบำนาญที่คาดว่าจะได้รับขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในบัญชี ประกอบด้วยเงินสะสมของสมาชิก เงินสมทบจากรัฐ และผลตอบแทนจากการนำเงินนี้ไปลงทุน.