กติกาใหม่บีบไทยเลิกภาษีบีโอไอ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กติกาใหม่บีบไทยเลิกภาษีบีโอไอ

Date Time: 15 ก.พ. 2566 06:40 น.

Summary

  • การปฏิรูปภาษีโลก ที่ OECD ให้ประเทศภาคีสมาชิกกว่า 140 ประเทศต้องเก็บภาษีขั้นตํ่าในอัตรา 15% ประเทศไหนเก็บภาษีตํ่ากว่า 15% ก็ให้ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่เก็บภาษีให้ครบ 15% แทน

Latest

ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ชี้ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ

เมื่อวันจันทร์ผมเขียนเรื่อง การปฏิรูปภาษีโลก ที่ OECD ให้ประเทศภาคีสมาชิกกว่า 140 ประเทศต้องเก็บภาษีขั้นตํ่าในอัตรา 15% ประเทศไหนเก็บภาษีตํ่ากว่า 15% ก็ให้ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่เก็บภาษีให้ครบ 15% แทน ส่งผลให้ กลุ่มประเทศที่เป็นสวรรค์การเลี่ยงภาษี เช่น หมู่เกาะเคย์แมน สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ ต่างก็สมัครเข้าร่วมภาคีกันหมดทุกประเทศ เพื่อเก็บภาษีเข้าประเทศ “กติกาภาษีใหม่ของโลก” นี้ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทย โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่ใช้นโยบายภาษีส่งเสริมการลงทุนดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

เรื่องนี้ผมนำมาจาก วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งไปสัมภาษณ์พิเศษ คุณลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร วันนี้ผมขออนุญาตนำมาลงอีกบางส่วน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

คุณลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์กับ วารสารการเงินธนาคาร ว่า การที่ไทยเข้าร่วม กติกาภาษีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกรมสรรพากรทั่วโลก จะทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน สอดรับกับแนวคิดของ OECD ที่มองว่า โลกปัจจุบันได้เปลี่ยนไปทำให้ไม่สามารถจัดเก็บภาษีธุรกิจบางอย่างได้ เช่น ธุรกิจดิจิทัล ที่ทำธุรกิจแบบไม่ต้องมีสถานประกอบการในประเทศต่างๆ ดังนั้น OECD จึงต้องออกกฎเกณฑ์เพื่อจัดเก็บภาษีจากธุรกิจทุกกลุ่ม

การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีใหม่ของ OECD ครั้งนี้ประกอบด้วย 2 หลักการ ได้แก่

Pillar 1 บริษัทข้ามชาติที่มีรายได้มากกว่า 20,000 ล้านยูโร จะต้องนำกำไรส่วนที่เกิน 10% แบ่ง 25% ให้กับประเทศที่บริษัทนั้นมีฐานรายได้ ในส่วนนี้กรมสรรพากรจะต้องออกกฎหมายในระดับ “พระราชบัญญัติ” เพื่อใช้จัดเก็บภาษีนี้ (ตอนนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังอยู่ที่สภาผู้แทน หวังว่า ส.ส.ในสภาจะช่วยกันออกกฎหมายฉบับนี้ให้ทัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ถ้า ยังทำสภาล่มบ่อยๆ เพื่อประโยชน์ตัวเองและพวก จนกฎหมายฉบับนี้ออกไม่ทันสภาชุดนี้ ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ ประชาชนต้องช่วยกันประณาม และไม่เลือกพวกนี้เข้ามาในสภาอีก) และประเทศไทยจะต้องลงนามใน “ความตกลงแบบพหุภาคี” ในช่วง กลางปี 2566 โดยจะ มีผลบังคับใช้ในปี 2567 และ เริ่มเก็บภาษีในปี 2568

Pillar 2 กำหนดภาษีธุรกิจขั้นตํ่าทั่วโลก (Global Minimum Tax) ในอัตรา 15% ทุกประเทศทั่วโลก ถ้าหาก ประเทศใดมีการเสียภาษีตํ่ากว่า 15% และไม่ยอมเก็บภาษีขั้นตํ่าในอัตรา 15% ก็ให้ประเทศที่บริษัทแม่นั้นตั้งอยู่เป็นผู้เก็บภาษีส่วนต่างให้ครบ 15% ไปเลย หลักการที่ 2 นี้ OECD จะให้มีผลบังคับใช้ในปี 2566 และ เริ่มจัดเก็บภาษีในปี 2567

คุณลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า Pillar 1 และ 2 ออกแบบมาได้ดีมากในด้านความเป็นธรรมและความโปร่งใสทางภาษี หากประเทศไทยไม่มีการออกกฎหมาย ไม่มีการเตรียมความพร้อม ก็จะเสียภาษีเงินรายได้ตรงนี้ไปให้กับประเทศแม่ของบริษัทข้ามชาติ ไม่ได้ส่วนแบ่งรายได้ภาษีตรงนี้ ในขณะที่ Pillar 2 หากประเทศไทยไม่ออกกฎหมายรองรับก็จะเก็บภาษีไม่ได้ ประเทศที่มีกฎหมายรองรับก็จะเก็บภาษีตรงนี้ไปก่อน เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ให้ได้

คุณลวรณ เปิดเผยว่า มาตรการนี้จะกระทบต่อกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ทำให้ไทยไม่สามารถใช้ “นโยบายภาษี” มาเป็น “นโยบายส่งเสริมการลงทุน” ได้อีกต่อไป ต้องใช้นโยบายอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนบริษัทข้ามชาติ

วันนี้ ภาพลักษณ์ไทยในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกไม่ค่อยดีนัก นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำ คสช.ปฏิวัติ เราแพ้เวียดนามหลุดลุ่ย ขนาดใช้ภาษีล่อยังแพ้เวียดนาม ถ้าไม่มีภาษีล่อ อนาคตการลงทุนไทยจะเป็นอย่างไร คนไทยต้องช่วยกันคิดครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ