ธพว.ปล่อยสินเชื่อ 8 หมื่นล้าน หนุนเอสเอ็มอีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ธพว.ปล่อยสินเชื่อ 8 หมื่นล้าน หนุนเอสเอ็มอีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

Date Time: 9 ก.พ. 2566 06:59 น.

Summary

  • “ธพว.” ตั้งเป้าปี 2566 ปล่อยสินเชื่อใหม่ 8 หมื่นล้านบาท เตรียมเปิดให้บริการขอเอกสาร-สินเชื่อ ผ่านแอปเป๋าตัง ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ตอกย้ำบทบาทธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เติม ความรู้คู่เงินทุนบริการ

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

“ธพว.” ตั้งเป้าปี 2566 ปล่อยสินเชื่อใหม่ 8 หมื่นล้านบาท เตรียมเปิดให้บริการขอเอกสาร-สินเชื่อ ผ่านแอปเป๋าตัง ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ตอกย้ำบทบาทธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เติม ความรู้คู่เงินทุนบริการเต็มที่แบบครบวงจร สานต่อความยั่งยืนในอนาคต

น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ธพว.ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยกระดับเอสเอ็มอีไทย รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติโควิด-19

โดยเป้าหมายของปี 2566 จะแบ่งกลุ่มการช่วยเหลือให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 80,000 ล้านบาท ถือเป็น เป้าหมายที่ท้าทายมาก แต่ต้องทำให้ได้ เพื่อให้เอสเอ็มอีเป็นหนึ่งในกลไก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การแบ่งเป็นสินเชื่อ กลุ่มธุรกิจนั้น มีทั้งสินเชื่อขนาดกลาง ขนาดย่อม รายย่อย และรายเล็ก ค้าขายออนไลน์ สตาร์ตอัพ วงเงินรวม 3-5 ล้านบาท

“แม้จะเป็นวงเงินที่ไม่สูงมาก แต่จากการสำรวจลูกค้ากลุ่มดังกล่าว มีความต้องการเงินเพื่อใช้หมุนเวียนธุรกิจ และขอกู้เงินเฉลี่ย 200,000-300,000 บาทต่อคน ทำให้คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ 7,000-10,000 ราย และยังมีสินเชื่อแฟรนไชส์ วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้บริการลูกค้าที่อยากลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มเติม”

เจาะเอสเอ็มอีค้ารายเล็ก-แม่ค้าออนไลน์

นอกจากนั้น ธพว.ยังมีแผนที่จะศึกษาพฤติกรรมลูกค้า เพื่อเติมเงินทุนให้มากขึ้น (top-up) โดยจะเข้าไปดูลูกค้าขายของออนไลน์ และเข้าร่วม โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการที่ใช้บริการ Cash on Delivery (COD) ที่ร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่สามารถยื่นกู้ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ ไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน เพียงมียอดขายผ่าน COD ตั้งแต่เดือนละ 20,000 บาทขึ้นไปเท่านั้น เพื่อสนับสนุนผู้ค้าออนไลน์ให้มีเม็ดเงินเสริมสภาพคล่อง

อีกทั้งจะเร่งส่งเสริมเอสเอ็มอีรายเล็กๆ เพื่อให้มีเงินไปตั้งต้นการทำธุรกิจ มีเงินหมุนเวียนในกิจการด้วย โดยกลุ่มนี้จะต้องมียอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นรายเล็กอย่างแท้จริง ที่ได้เตรียมเม็ดเงินไว้ราว 3,000-5,000 ล้านบาท เพื่อการปล่อยสินเชื่อให้กับรายเล็กๆเหล่านี้

ทั้งนี้ ในขณะที่ ธพว.เร่งรัดการปล่อยสินเชื่อ แต่ก็ต้องกระตุ้นลูกค้ารายเล็กให้มีวินัยทางการเงิน การจัดทำระบบบัญชีอย่างถูกต้อง เพื่อเข้าสู่ระบบเสียภาษีอย่างถูกต้องด้วย โดยธนาคารจะใช้โครงการเอสเอ็มอี ดี โค้ด เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า รายเล็ก รายย่อย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินจะพิจารณาสินเชื่อจากหลักฐานการกู้เงิน จากการเสียภาษี และระบบบัญชี

เน้นธุรกิจบีซีจีปล่อยเอสเอ็มอีรายใหญ่

น.ส.นารถนารีกล่าวต่อว่า สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอีรายใหญ่ จะแบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการที่สนใจธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจด้านในกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (บีซีจีโมเดล) เพื่อให้สอดรับกับกระแสเทรนด์ธุรกิจใหม่ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน เมื่อปีนี้ เป็นช่วงที่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ต่อเนื่องกลับมาฟื้นตัวธนาคารจึงมองว่า ผู้ประกอบการเกี่ยวกับท่องเที่ยวและโรงแรมจะเป็นกลุ่มที่ต้องการเงินทุน เพื่อฟื้นธุรกิจของตัวเอง จึงเตรียมสินเชื่อเพื่อรีสตาร์ตท่องเที่ยว หรือสินเชื่อ 3 D วงเงิน 10,000 ล้านบาท รวมทั้งสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้รับเหมา วงเงิน 5,000 ล้านบาท และสินเชื่ออื่นๆที่ตรงกับความต้องการ

“การเติมเงินเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีจะไม่ได้มีเพียงการปล่อยสินเชื่อ แต่จะมีลักษณะการเข้าไปร่วมทุนด้วย โดยจะมีกองทุนเพื่อ ร่วมทุนกับเอสเอ็มอีที่กำลังเตรียมจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (MAI) ช่วยเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการเติบโต ขณะนี้ได้เข้าร่วมทุนกับร้านโจรสกัด ร้านเนื้อแท้ เป็นต้น และแม้ขณะนี้ร้านอาจจะยังขาดทุน แต่ผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

การเข้าไปร่วมทุนดังกล่าว ธพว.จะเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งให้คำปรึกษาระบบบัญชี การเสียภาษีที่ถูกต้อง เมื่อแข็งแกร่งแล้ว ธพว.ก็จะถอนทุน เพราะถือว่ายืนอยู่ได้ด้วยตนเองแล้ว จากนั้นก็จะนำทุนไปลงทุนกับรายใหม่ เพื่อขยายความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง โดยกำลังพิจารณาร่วมทุน กับศูนย์ฟอกไต ซึ่งยังต้องดูรายละเอียดว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใด และหากธุรกิจอื่นๆต้องการให้ธนาคารร่วมทุนก็ให้เข้ามาเจรจากัน

นอกจากกรณีดังกล่าว ธพว.ยังให้ความช่วยเหลือ พัฒนาเรื่องการตลาด หรือช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ให้เอสเอ็มอีไทยด้วย เพราะบางรายประสบปัญหาทางการตลาด ที่จะเข้าไปช่วยเหลือให้คำปรึกษา และหาช่องทางการจำหน่าย และจะเข้าไปร่วมมือกับทุกหน่วยงาน เพื่อขยายโอกาสให้กับลูกค้า

เร่งพัฒนาองค์กรสู่ดิจิทัลแบงก์

สำหรับการพัฒนาภายในปีนี้ มีแผนจะพัฒนาระบบดิจิทัล โดยการจัดทำบริการของ ธพว.ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเรียกว่า App in App โดยเฟสแรกจะให้บริการลูกค้า เช่น การแจ้งใบเสร็จและเรียกดูใบเสร็จย้อนหลัง รวมถึงชำระเงินได้ง่าย ผ่าน QR Code ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ด้วย และต่อไปอาจพัฒนาไปถึงขั้นการยื่นขอสินเชื่อธพว. ผ่านแอปเป๋าตังได้ด้วย โดยจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2 ส่วนแอปพลิเคชันของ ธพว.หรือ แอปเอสเอสอีดีแบงก์ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบที่อยู่เบื้องหลัง การให้บริการธุรกิจธนาคาร (Core Banking System) โดยจะเปิดบริการได้ในปี 2567

“การดำเนินงานปีที่ผ่านมา ได้สร้างสถิติใหม่สูงสุด (New High) โดยปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี 68,800 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อต้นปี 2565 ที่ 66,000 ล้านบาท เกินเป้ากว่า 2,800 ล้านบาท และเป็นยอดสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้ง ธพว.มากว่า 21 ปี ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างขยายตัวอยู่ที่ 109,290 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงเหลือ 9.72% และช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย 315,140 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 226,450 ราย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ