ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยแนวทางสำหรับการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank (ธนาคารไร้สาขา)โดยให้สามารถประกอบธุรกิจเป็นธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้
พร้อมทั้งปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดย ธปท. จะกำกับ Virtual Bank ตามระดับความเสี่ยง ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (risk culture) รวมถึงความต่อเนื่องในการให้บริการของระบบ IT ประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และความเหมาะสมของการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก
สำหรับเป้าหมายที่ ธปท. ต้องการให้มี Virtual Bank เพื่อต้องการเห็นการนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี ข้อมูล และดิจิทัล โดยให้มีบริการทางการเงินที่ครบวงจร และเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเหมาะสมเพียงพอ และต้องให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก โดยที่ไม่มีสาขาของตนเอง
พร้อมทั้งมีการสร้างประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงช่วยให้เกิดการแข่งขัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม
ขณะเดียวกัน ธปท. เน้นย้ำว่า จะต้องไม่มีลักษณะการประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน เช่น เร่งขยาย หรือ ทำธุรกรรมเสี่ยงจนกระทบฐานะ รวมถึงมีการแข่งขันที่ไม่เหมาะสมจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น การให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงมากๆ เพื่อแย่งลูกค้ากัน หรือแข่งกันปล่อยสินเชื่อที่กระตุ้นให้มีการก่อหนี้จนเกินตัว และการใช้อำนาจทางตลาดอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเงื่อนไขผูกมัดคู่ค้าทางธุรกิจที่ให้ใช้บริการเฉพาะกับ Virtual Bank ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเท่านั้น
ด้านคุณสมบัติของผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank มีรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์เป้าหมายข้างต้นได้อย่างยั่งยืน มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย และที่สำคัญต้องมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถสนับสนุนให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อ Virtual Bank เปิดดำเนินการในช่วง 3-5 ปีแรก จะต้องมีการดำเนินกิจการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยทาง ธปท. จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ดำเนินกิจการอย่างมั่นคง ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ
และถ้าหาก ธปท. เห็นว่า Virtual Bank ไม่มีความพร้อมเพียงพอในการให้บริการ หรือธุรกรรมที่จะดำเนินการ หรืออยู่ระหว่างดำเนินการ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงต่อระบบการเงิน หรือผู้บริโภคในวงกว้าง ธปท. อาจพิจารณาสั่งการให้แก้ไข หรือกำหนดให้ Virtual Bank ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
ขณะที่แผนการดำเนินงานต่อไปหลังจากที่ได้มีการเปิด Public Hearing ในวันที่ 12 มกราคม ถึง 12 กุมภาพันธ์ ต่อไปจะเป็นการเปิดรับสมัครเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นจะเป็นการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะเสนอรายชื่อของผู้ที่สมควรจะได้รับใบอนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำนวนไม่เกิน 3 ราย
และคาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในไตรมาสที่ 2/2567 และจะเข้าสู่ขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการ โดยในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันสมควร ธปท. อาจพิจารณาผ่อนผันให้เปิดดำเนินการหลังจาก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ และคาดว่าภายในไตรมาสที่ 2/2568 จะมี Virtual Bank ที่พร้อมเปิดให้บริการ