ผู้ถือบัตรเครดิตวีซ่าของธนาคารกรุงเทพ และเคทีซี สามารถใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยกับทุกการใช้จ่ายผ่าน Google Wallet บนอุปกรณ์สวมใส่ที่รองรับทั้งระบบ Android และ WearOS
วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ประกาศเปิดตัว Google Wallet สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตวีซ่าในประเทศไทยที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ และบัตรกรุงไทย (เคทีซี) โดยผู้ถือบัตรสามารถใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยด้วย Google Wallet ที่ติดตั้งบนอุปกรณ์ที่รองรับระบบปฏิบัติการ Android และ WearOS ไม่ว่าจะในร้านค้า การช็อปออนไลน์ ใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ และยังสามารถจัดเก็บบัตรเครดิตไว้ภายใน Google Wallet ได้อีกด้วย
การเปิดตัวในครั้งนี้สอดรับกับพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคชาวไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเปิดรับวิธีการชำระเงินแบบดิจิทัลและลดการใช้เงินสดลง จากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) เผยให้เห็นว่าเกือบเก้าในสิบ (88%) ของชาวไทยในปัจจุบันที่ไม่ได้ชำระเงินแบบโมบายคอนแทคเลสต่างรับทราบเกี่ยวกับการชำระเงินด้วยวิธีนี้ และมีถึง 87% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่สนใจที่จะเริ่มใช้การชำระเงินในรูปแบบดังกล่าว
พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การเกิดโรคระบาดเป็นตัวขับเคลื่อนการชำระเงินแบบคอนแทคเลส เพราะผู้บริโภคต่างมองหาช่องทางที่ปลอดภัยและสะดวกในการใช้จ่าย อุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คนทั้งในเรื่องการติดต่อ ทำธุรกิจ และให้ความบันเทิงไปในตัว เป้าหมายของวีซ่าคือการเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการชำระและรับเงินสำหรับทุกคน การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอของเรา และเราเองภูมิใจที่ได้ส่งมอบประสบการณ์การชำระเงินที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคชาวไทย ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับเราที่ได้ร่วมสนับสนุนกูเกิล ธนาคารกรุงเทพ และเคทีซี เพื่อมอบ Google Wallet และอีกหนึ่งประสบการณ์การชำระเงินที่ไร้รอยต่อและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้งออนไลน์หรือแตะอุปกรณ์สวมใส่ของพวกเขาที่จุดรับชำระเงิน”
แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ e-Conomy SEA 2022 พบว่าการชำระเงินแบบดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าการชำระเงินแบบดิจิทัลในไทยจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (Gross Transaction Value: GTV) สูงถึง 1.61 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เนื่องจากปัจจุบันคนไทยหลายล้านคนนิยมชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เราจึงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้นำ Google Wallet มาให้บริการในประเทศไทย ด้วย Google Wallet ผู้ใช้งานในไทยสามารถแตะเพื่อจ่ายเงินในร้านค้า หรือเช็กเอาต์ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งเข้าถึงบอร์ดดิ้งพาสสำหรับการเดินทางที่เร่งรีบในช่วงเทศกาลวันหยุดส่งท้ายปลายปีได้อย่างง่ายดาย เปรียบเสมือนการรวมทุกกระเป๋าไว้ในที่เดียวในทุกการเดินทาง ซึ่งทั้งสะดวกและปลอดภัย”
วิธีการชำระเงินผ่านโมบายคอนแทคเลสไม่ต่างจากการชำระแบบผ่านบัตรคอนแทคเลส ที่ผู้บริโภคเพียงแค่แตะเพื่อจ่ายด้วยสมาร์ทโฟนที่เครื่องอ่าน ณ จุดรับชำระเงิน โดยผู้บริโภคชาวไทยบอกว่าข้อดีห้าอันดันแรกของการชำระเงินผ่านโมบายคอนแทคเลส คือ ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด (68%) ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด (65%) เป็นรูปแบบการชำระเงินที่ทันสมัย (59%) ง่ายต่อการใช้งานและติดตั้งระบบ (58%) และไม่จำเป็นต้องพกบัตรเพื่อการชำระเงิน (56%)
Google Wallet ได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างประสบการณ์การชำระเงินที่รวดเร็วและปลอดภัย แอปฯ จะทำงานโดยมีหน่วยประมวลผลร่วมที่ช่วยให้การชำระเงินมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วยระบบการรักษาความปลอดภัยแบบหลายชั้นที่ออกแบบให้สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัวที่เป็นความลับของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ Google Wallet ยังใช้โทเคน ซึ่งเป็นชุดข้อมูลชั่วคราวแทนข้อมูลเลขบัญชีจริงที่จะช่วยรักษาข้อมูลของเจ้าของบัตรให้ปลอดภัย โดยชุดข้อมูลจะถูกสร้างขึ้นเมื่อมีการเพิ่มบัตรไปที่ Google Pay หรือในแอปฯ ของธนาคารที่ติดตั้ง เพื่อให้ข้อมูลของผู้บริโภคนั้นถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ในขณะที่ชุดข้อมูลตัวเลขโทเคนที่สร้างขึ้นมาทดแทนเลขบัญชีจริงจะถูกส่งไปยังร้านค้าแทน
ผู้ถือบัตรวีซ่า จะสามารถทำธุรกรรมต่างๆ บนอุปกรณ์ที่รองรับระบบปฏิบัติการ Android และ WearOS ตั้งแต่เวอร์ชัน Android 5.2 เป็นต้นไป โดยสามารถดาวน์โหลดแอปฯ Google Wallet ได้ที่ Play Store
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Google Wallet สามารถดูได้ที่ https://wallet.google และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชำระเงินแบบคอนแทคเลสของวีซ่าได้ที่ www.visa.co.th
*การศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2564 ของวีซ่า ซึ่งจัดทำโดย CLEAR ในนามของวีซ่าเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ในแปดประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 6,520 คน รวมทั้งผู้บริโภคในประเทศไทยจำนวน 1,000 ราย ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และมีรายได้ขั้นต่ำต่อคนที่ 15,000 บาท