กรุงศรี ปักหมุดเชียงใหม่ เปิด ศูนย์นวัตกรรม Krungsri Innovation x ร่วมมือกับสตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัย ดึงดูด Tech Talent หวังปั้น ‘ฮับนวัตกรรมแห่งใหม่’ สร้างงานสายเทคเข้าถึงคนท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมากรุงศรีฯ ได้เปิดตัว Krungsri Innovation x Chiang Mai ศูนย์นวัตกรรมด้านฟินเทคแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสถาบันการเงิน ตั้งอยู่ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสี่แยกสนามบินเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์รวมแหล่งความรู้และอัปเดตเทรนด์สำหรับคอมมูนิตี้สายเทค และเป็นพื้นที่สำหรับแสดงความสามารถและสร้างสรรค์ทางด้านการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมกันนี้ยังคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มช่องทางในการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ผ่านความร่วมมือของ กรุงศรี กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัย และสตาร์ทอัพท้องถิ่น ได้มากขึ้น
ปั้นเชียงใหม่ สู่ “ฮับนวัตกรรมแห่งใหม่”
สายสุนีย์ หาญประเทืองศิลป์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรมดิจิทัลและข้อมูล ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่กรุงศรีฯ มี กรุงศรี นิมเบิล เป็นส่วนธุรกิจที่แตกยอดออกมาเพื่อดูแลและพัฒนาธุรกิจสายฟินเทค โดยได้มีการเฟ้นหาและส่งเสริมผู้มีศักยภาพ ให้มาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างสรรค์พัฒนาร่วมกับเรา ซึ่งที่ผ่านมา กรุงศรี นิมเบิล ได้ช่วยผลักดันให้ Talent มากมายสามารถต่อยอดไอเดียที่นำไปสู่การก่อตั้งธุรกิจหรือการคิดค้นโซลูชันด้านการเงินที่น่าสนใจ และมีแผนการสนับสนุนสตาร์ทอัพท้องถิ่น รวมถึงจะร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และบุคลากรสายเทคร่วมกันในอนาคตอีกด้วย
ธีรพงศ์ มหธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี นิมเบิล จำกัด กล่าวว่า การเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ เป็นการขยายไปสู่หัวเมืองหลักอย่างเชียงใหม่ ที่นับเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านฟินเทครองจากกรุงเทพฯ โดยกรุงศรีต้องการส่งเสริม Local Community ผ่านการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ เอกชน และสตาร์ทอัพท้องถิ่น ในการที่จะหาโอกาสใหม่ร่วมกัน และในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถสร้าง “เชียงใหม่วัลเลย์” ให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะเป็นฮับนวัตกรรมแห่งใหม่ในประเทศไทย
ด้าน แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า ใน 5 ปีที่ผ่านมากรุงศรีได้ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพกว่า 72 ราย 145 โครงการ ซึ่งมากที่สุดในบรรดาธนาคารระดับภูมิภาค ทั้งนี้ กรุงศรี ฟินโนเวต ได้มีการลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 19 บริษัท เป็นยูนิคอร์นไปแล้ว 2 ราย และกำลังจะ IPO อีก 5 ราย ในการลงทุนที่ผ่านมาได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 2,500 ล้านบาท จากขนาดของกองทุนที่ 5,000 ล้านบาท และหลังจากนี้จะลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างเต็มศักยภาพ
“การเปิดศูนย์นวัตกรรมที่เชียงใหม่เป็นจุดเริ่มต้นในการขยายออกสู่หัวเมืองของเรา โดยโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เราจะมีการทำเหมือน YCombinator โดยจะร่วมมือกับทางภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย ทำเป็นรูปแบบของ Startup Incubator ที่มุ่งปั้นสตาร์ทอัพในระดับ Seed มากขึ้น และเราต้องการให้มีสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในต่างจังหวัดเข้ามามากขึ้น”
มุ่งสร้างความร่วมมือท้องถิ่น ต่อยอดสู่โอกาสใหม่
อมฤต ฟรานเซน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทบาทของสภาอุตสาหกรรมฯ จะมีร่วมมือกับภาคธุรกิจในการผลักดันหลักสูตรพัฒนานักศึกษาในมหาวิทยาลัย ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น และทำให้อยู่ในระบบนิเวศของเทคโนโลยีมากขึ้น และการที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพในระดับท้องถิ่น จะทำให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงคนได้มากขึ้น รวมถึงมีศักยภาพในการดึงดูด Tech Talent ให้เข้ามาทำงานในพื้นที่มากขึ้น และเมื่อมี Tech Talent ก็จะสามารถดึงดูดบริษัทขนาดใหญ่ให้มาลงทุนเพิ่มขึ้นได้
ด้าน ผศ.ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อํานวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่เผชิญในทุกวันนี้ คือ เศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นเติบโตช้า เพราะไม่มีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาช่วยกระตุ้น โดยในแต่ละปีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาออกมานับหมื่นราย และกระจายตัวออกจากท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่มีงานเพียงพอ ดังนั้นการเข้ามาของบริษัทขนาดใหญ่จะสามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นได้ เพราะจริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ สร้าง Talent รวมถึงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ แต่เมื่อทำแล้วก็ต้องมีการต่อยอดนำไปใช้งานด้วยการ Synergy กับภาคธุรกิจได้
ด้าน กรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี๊ด เว็บส์ จำกัด กล่าวว่า จริงๆ แล้วในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นเบอร์หนึ่งของเหล่า Digital Nomad มีชาวต่างชาติย้ายเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น อดีตวิศวกรจาก Big Tech ของโลก และได้มีการสร้างเทคคอมมูนิตี้เล็กๆให้เกิด จึงมองว่าการที่จะสามารถผลักดันคอมมูนิตี้เหล่านี้ให้เติบโตขึ้นได้นั้นจะต้องมีการร่วมมือกันในหลายภาคส่วน กระจาย Talent จากกรุงเทพฯ ออกมา และเพิ่มโอกาสให้กับ Talent ในต่างจังหวัดได้เข้าถึงทรัพยากรมากขึ้น เพื่อที่ว่าจะสามารถหาจุดที่มาเชื่อมกันได้ ให้ทุกคนหาไอเดียใหม่ และสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกัน
ขณะที่ ดร.นที เทพโภชน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Block Mountain และ Chaingmai Crypto City กล่าวว่า ในเชียงใหม่มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นใหม่ค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ยังคงขาดคือ ประสบการณ์ในการปั้นธุรกิจ และความพร้อมของทรัพยากรต่างๆ ดังนั้นการที่สถาบันกรเงินขนาดใหญ่เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวังเชียงใหม่ ด้วยการมาสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น และมหาวิทยาลัย ถือเป็นการเปิดโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้กับคนท้องถิ่น ในการสร้าง impact มีส่วนร่วมที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมและประเทศมากขึ้น