ลุยปั๊มสินเชื่อเต็มเหนี่ยว เอสเอ็มอีดีแบงก์ขอรัฐเพิ่มทุน 6 พันล้าน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลุยปั๊มสินเชื่อเต็มเหนี่ยว เอสเอ็มอีดีแบงก์ขอรัฐเพิ่มทุน 6 พันล้าน

Date Time: 10 ต.ค. 2565 06:10 น.

Summary

  • เอสเอ็มอีดีแบงก์เสนอคลัง ชง ครม.ใส่เงินเพิ่มทุนอีก 6,000 ล้านบาท เสริมแกร่งเงินกองทุน รอรับปล่อยเงินกู้เติมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี รับเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด จ่อขยายเพดานอนุมัติสินเชื่อ

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

เอสเอ็มอีดีแบงก์เสนอคลัง ชง ครม.ใส่เงินเพิ่มทุนอีก 6,000 ล้านบาท เสริมแกร่งเงินกองทุน รอรับปล่อยเงินกู้เติมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี รับเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด จ่อขยายเพดานอนุมัติสินเชื่อต่อรายได้ 100-200 ล้านบาท จากปัจจุบันปล่อยได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอี ดี แบงก์ เปิดเผยว่า ธพว.เตรียมเสนอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาเพิ่มทุนอีก 6,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ปล่อยกู้ช่วยเหลือเติมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังโควิด และความผันผวนจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก หลังจากตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยกู้ และช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรองรับการใช้มาตรฐานทางบัญชีใหม่ ที่สถาบันการเงินของรัฐจะเริ่มใช้พร้อมกันในปี 2568

“ที่ผ่านมา ธนาคารได้รับการเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2547-2563 ส่งผลให้ธนาคารมีทุนเรือนหุ้นทั้งสิ้น 36,231 ล้านบาท และหากเพิ่มทุนอีก 6,000 ล้านบาท จะทำให้ธนาคารมีทุนเพิ่มจาก 36,231 ล้านบาท เป็น 42,000 ล้านบาท เพียงพอสำหรับนำไปใช้ขยายภารกิจช่วยเติมสภาพคล่อง และพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหน้าใหม่ได้เพิ่มขึ้น และมาตรฐานทางบัญชีใหม่ที่จะเริ่มใช้ในอนาคต”

นางสาวนารถนารี กล่าวต่อว่า ธนาคารมีแผนขอให้คลังพิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อ สำหรับปล่อยช่วยเหลือเอสเอ็มอีแต่ละรายเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ไม่เกินรายละ 50 ล้านบาท เป็นรายละ 100-200 ล้านบาท เพราะมองว่าวงเงินปัจจุบันไม่เพียงพอ รองรับผู้ประกอบการขนาดกลางที่ต้องการวงเงินไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังต้องการเดินหน้าให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคาร ที่ต้องยกระดับผู้ประกอบการจากกลุ่มขนาดเล็ก ก้าวสู่กลุ่มขนาดกลาง และเติบโตไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ธนาคารวางแผนเดินหน้าบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมอบรม สัมมนา เพิ่มศักยภาพ ยกระดับธุรกิจ พร้อมบริการด้านการพัฒนา ควบคู่ให้ด้วย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมแล้วประมาณ 10,250 ราย

สำหรับผลดำเนินงาน 8 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 65) ธนาคารได้สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน เสริมสภาพคล่อง วงเงินรวมกว่า 44,132 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมากกว่า 150% เมื่อเทียบกับยอดเบิกจ่าย ณ ส.ค.64 อยู่ที่ 29,453 ล้านบาท โดยธนาคารตั้งเป้าหมายสิ้นปี 65 จะสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ไม่ต่ำกว่า 66,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 16,669 ล้านบาท เมื่อเทียบปี 64 ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้าง ณ ส.ค.65 อยู่ที่ 111,385 ล้านบาท และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านการพาเข้ามาตรการพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้าง หนี้ ปี 65 (ม.ค.-ส.ค.65) 14,789 ราย คิดเป็นวงเงิน 27,220 ล้านบาท

นางสาวนารถนารี กล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ธนาคารจะพยายามตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ของธนาคารอยู่ที่ 6.75% แต่ธนาคารปล่อยกู้ให้กับลูกค้าบางรายในระดับที่ต่ำกว่าเอ็มแอลอาร์ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ส่วนปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปีนี้จะอยู่ที่ 13,000 ล้านบาท โดยธนาคารมีตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญไว้ที่ 11,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีฉบับปัจจุบัน แต่หากนำมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ปี 2568 มาใช้ จะต้องตั้งสำรองเพิ่มเป็น 120% ของหนี้สงสัยจะสูญ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ