การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ของ กนง.เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ดอกเบี้ยไทยขึ้นไปที่ระดับ 1% คาดว่าการประชุม กนง.ที่เหลืออีกครั้งในปีนี้ จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยไทยปีนี้ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% แต่ก็ยังต่ำกว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่จะขึ้นไปสู่ระดับ 4.5% ในสิ้นปีนี้ การขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพื่อกดเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปีของสหรัฐฯ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯให้เข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง แต่ยังส่งผลกระทบไปทั่วโลกด้วย
การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.สองครั้งที่ผ่านมา เป็นการขึ้นตามปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศไทยเอง ไม่ได้ขึ้นตามดอกเบี้ยสหรัฐฯ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยืนยันว่า ไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจไทยและสหรัฐฯ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การเอานโยบายการเงินของสหรัฐฯ มาชี้นำเศรษฐกิจไทยคงไม่เหมาะ จะทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าเกินสกุลเงินในภูมิภาคทั้งหมด ไทยไม่มีนโยบายผูกค่าเงินบาทไว้กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นโยบายการเงินของไทยจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามธนาคารกลางสหรัฐฯ
ก็เป็นนโยบายการเงินที่ชัดเจนจากผู้ว่าการแบงก์ชาติไทย
คุณเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ ด้านเสถียรภาพการเงิน ก็แถลงในทิศทางเดียวกันว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นตัวกำหนดการไหลออกของเงินทุนต่างชาติเพียงอย่างเดียว เพราะแต่ละประเทศมีปัจจัยเฉพาะที่แตกต่างกัน แม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่า แต่ก็ยังมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิ 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไหลออกไปเพียง 600–700 ล้านเหรียญ บางประเทศขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าไทย แต่ค่าเงินก็อ่อนค่ากว่าไทย การอ่อนค่าของเงินบาทเกิดจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในภาพรวม
แต่ การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.สองครั้งที่ผ่านมา ก็มีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยตาม การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ครั้งแรก 0.25% แบงก์พาณิชย์ช่วยกันตรึงดอกเบี้ยเอาไว้ แต่เมื่อ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% รวมเป็น 0.50% แบงก์พาณิชย์ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยเอาไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้ฟื้นตัว
ช่วงสองวันที่ผ่านมา แบงก์ใหญ่ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยกันแล้ว ธนาคารกรุงเทพ แถลง ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝาก 0.15–0.50% ต่อปี ปรับขึ้นดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี 0.40% ต่อปี ปรับขึ้นดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นประเภทเบิกเกินบัญชี 0.375% ต่อปี และปรับขึ้นดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี 0.30% ต่อปี มีผลตั้งแต่ 29 กันยายน
ธนาคารกรุงไทย ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.15-0.825% สำหรับเงินฝากประจำ 24 เดือน และ 36 เดือน เพิ่มสูงสุด 0.825% เป็น 1.20% ต่อปี เพื่อดูแลผู้ฝากเงินให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการออมในระยะยาว ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี 0.25% เป็น 5.50% ต่อปี ปรับขึ้นดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเบิกเกินบัญชี 0.25% เป็น 6.07% ต่อปี แต่คงอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย เพื่อให้สามารถฟื้นตัวได้ มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม
ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.50% ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ 0.25% แต่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี มีผลตั้งแต่ 4 ตุลาคม
การขึ้นดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี 0.25% ถือว่าขึ้นน้อยมาก แต่การไม่ขึ้นดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพื่อให้โอกาสลูกค้ารายย่อยได้ฟื้นตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปกำลังถดถอย แต่เศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆฟื้น แม้จะ ขยายตัวได้เพียง 3% ในปีนี้และปีหน้า ก็ถือว่าดีแล้ว ขอให้เป็นการขยายตัวแบบ Slow But Sure ก็แล้วกัน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”