รมว.คลัง รายงานนายกฯเกาะติดสถานการณ์ตลาดเงินตลาดทุน หวั่นเฟดทุบเศรษฐกิจโลก ย้ำจับมือแบงก์ชาติติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ด้านผู้ว่า ธปท.ยืนยันเศรษฐกิจไทยโตไม่สะดุด ยันบาทอ่อนยวบไม่ได้แสดงว่าเสถียรภาพอ่อนแอ เงินนอกยังไหลเข้า รับเข้าแทรกแซงบาทเมื่อผันผวน แต่ไม่ฝืนตลาด
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ทราบถึงความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศ หลังจากตลาดมีความผันผวนจากความกังวลต่อกรณีคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีการประชุมแบบปิด (Closed Meeting) ในวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทบทวนและตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าและดอกเบี้ยมาตรฐานก่อนการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 พ.ย.65 โดยผลของความกังวลดังกล่าวส่งผลให้เมื่อวันที่ 3 ต.ค.65 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงประมาณ 31 จุด และฟื้นตัวกลับมาบวกเกือบ 20 จุดในภาคเช้าของวันที่ 4 ต.ค.65 หลังจากที่ผลการประชุมคณะผู้ว่าการเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆเกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ย
ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้เป็นระยะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงการฟื้นตัว แต่รัฐบาลได้ติดตามในทุกปัจจัยที่อาจจะกระทบการฟื้นตัวดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยจากภาคเศรษฐกิจจริง หรือตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งในส่วนของตลาดเงินและตลาดทุนนี้ กระทรวงการคลังได้ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการติดตามปัจจัยที่มาจากต่างประเทศ การเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุน และมีการรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบอย่างต่อเนื่อง
“รมว.คลังรายงานสถานการณ์ล่าสุดให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ขณะนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุนผันผวน ทั้งการประชุมแบบปิดของเฟดเมื่อวันที่ 3 ต.ค.65 รวมถึงข่าวลือเกี่ยวกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในต่างประเทศ แต่วันนี้ดัชนีหุ้นไทยได้รีบาวน์กลับมาแล้วเกือบ 20 จุด โดยต้องติดตามต่อไป แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย”
วันเดียวกัน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ The Shape of Growth in The Future นโยบายด้านการเงินกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน ภายในงานสัมมนา “Thailand Economic Outlook 2023” ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากความ ต้องการใช้จ่ายในประเทศที่ฟื้นตัว และภาคท่องเที่ยว ที่คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวปี 2565 อยู่ที่ 9.5 ล้านคน และเพิ่มเป็น 21 ล้านคน ในปี 2566 รายได้แรงงานปรับดีขึ้น รายได้เกษตรกร รายได้นอกภาคเกษตรเติบโตต่อเนื่อง
“ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3% และเพิ่มเป็น 3.8% ในปี 66 โดยเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 66 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะคลี่คลายในปี 66 เช่นกัน และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อที่ 1-3% ได้ในกลางปี ขณะที่ปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 6.3% ทั้งนี้ สิ่งที่ ธปท.กังวล คือ เงินเฟ้อพื้นฐาน เพราะจะสะท้อนว่า เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดหรือไม่ โดยที่ผ่านมา เราเห็นตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานวิ่ง และวิ่งขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น โดย ธปท.คาดว่าปีนี้เงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2.6% และปีหน้าอยู่ที่ 2.4% ซึ่งตัวนี้ ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด”
ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันด้วยว่า ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ไม่ได้ช้าและน้อยเกินไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นช้าเทียบต่างประเทศ และยังมีกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องดูแลด้วยมาตรการเฉพาะจุด ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องนั้น เป็นเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่า โดยปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าแล้ว 17-18% ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า 12% และการอ่อนค่าของเงินบาทโดยรวมไม่ได้ผิดเพี้ยนจากภูมิภาค ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯที่กว้างขึ้นไม่ได้ทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลออก โดยตั้งแต่ต้นปีไทยยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 3,500 ล้านดอลลาร์
“ค่าเงินบาทที่ไปถึง 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้เกิดจากการขาดเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันเสถียรภาพของไทยอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ทุนสำรองเมื่อเทียบกับต่างประเทศอยู่ในระดับสูง โดยอยู่ในอันดับ 12 ของโลกและคาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลในปีหน้า”
ต่อข้อถามที่ว่า ธปท.เข้าไปดูแลค่าเงินหรือไม่ นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า มีบ้าง เมื่อเห็นความผันผวนแรงเกินไป แต่ไม่ได้เข้าไปเพื่อฝืนทิศทางตลาด เพราะเรารู้ว่าทำไม่ได้ ค่าเงินบาทมาจากดอลลาร์แข็ง เราควบคุมการแข็งอ่อนของเงินดอลลาร์ไม่ได้ และเราเคยมีบทเรียนจากปี 40 ที่ไปฝืนตลาดมากจะมีความเสี่ยงมากมาย.