เงินบาทวูบ! เฟดป่วนค่าเงินโลก

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เงินบาทวูบ! เฟดป่วนค่าเงินโลก

Date Time: 27 ก.ย. 2565 06:57 น.

Summary

  • ค่าเงินบาทวันที่ 26 ก.ย.65 ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยเปิดตลาดที่ 37.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นมีแรงเทขายจนเงินบาทอ่อนค่าที่สุดลงไปแตะ 37.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

Latest

ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ชี้ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันที่ 26 ก.ย.65 ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยเปิดตลาดที่ 37.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นมีแรงเทขายจนเงินบาทอ่อนค่าที่สุดลงไปแตะ 37.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 37.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มองกรอบสัปดาห์นี้อยู่ที่ 37.50-38.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สกุลเงินภูมิภาคทำสถิติต่ำสุดในรอบหลายปีเช่นกัน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อ โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ โดยเงินปอนด์อังกฤษอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากสัปดาห์ก่อนค่าเงินปอนด์อ่อนค่าในรอบ 37 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงไปแตะ 37.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ชี้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการดูแลติดตามอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนต่างชาติด้วย ซึ่งกระทรวงคลังได้สอบถามถึงภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งไม่ได้มีปัจจัยอะไรเป็นพิเศษแบบมีนัยสำคัญ ส่วนกรอบเงินเฟ้อที่หลุดกรอบที่กำหนดไว้นั้น ได้หารือกันเบื้องต้น ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แม้จะหลุดกรอบไปแล้วก็ตาม โดยมาตรการการเงินขึ้นอยู่กับ ธปท.ว่าจะดูแลอย่างไร ส่วนต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนใหญ่ กระทรวงการคลังได้นำมาตรการภาษีเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนวัตถุดิบอื่นๆก็มีการควบคุมราคาขายปลีก รวมถึงการนำเข้าสินค้าบางตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 28 ก.ย.นี้ น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพราะหากขึ้นแรงหรือเร่งดอกเบี้ยให้สูงขึ้นมากเกินไปจะทำให้ทั้งเอสเอ็มอี และประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จนส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยอาจเติบโตได้ต่ำกว่า 3% และยังมีปัญหาเรื่องหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลตามมา ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงไม่เกิน 37.5-38.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะไตรมาสสุดท้ายของปี การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาได้ ขณะที่การส่งออกยังเดินหน้าโตได้ต่อเนื่อง ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯไหลกลับเข้ามาทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เชื่อว่า ธปท.จะดูแลไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าต่ำกว่า 37.5 บาท แต่ต้องดูแรงกดดันต่างๆด้วย หวังว่าจะไม่มีอะไรมากดดันเงินบาทแรงจนอ่อนค่าเกินกว่า 38 บาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ