รู้สู้หนี้...ถ้าคุณรู้ก็สู้ได้!!

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รู้สู้หนี้...ถ้าคุณรู้ก็สู้ได้!!

Date Time: 9 ก.ย. 2565 05:06 น.

Summary

  • หลายท่านคงคุ้นหูคุ้นตากับประโยคที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” กันดี เปรียบได้กับว่า การจะทำอะไร หากรู้จักวางแผน ทำการศึกษาจุดแข็งจุดอ่อน ข้อได้เปรียบเสียเปรียบแล้ว

Latest

ออมสินเปิดแพลตฟอร์มเงินดีดี ปล่อยกู้คนกู้แบงก์ไม่ผ่าน

หลายท่านคงคุ้นหูคุ้นตากับประโยคที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” กันดี เปรียบได้กับว่า การจะทำอะไร หากรู้จักวางแผน ทำการศึกษาจุดแข็งจุดอ่อน ข้อได้เปรียบเสียเปรียบแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จ มากกว่าการลงสนามโดยไม่รู้อะไรเลย แม้กระทั่งตัวเอง

เมื่อนำมาใช้กับเรื่องการจัดการหนี้แล้ว การทำความรู้จัก “หนี้” ของตัวเอง และการส่องพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง ก็คือ การรู้เขารู้เรา นั่นแหละ

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีผลการศึกษาที่อ้างอิงข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) บอกว่า คนไทยตอนนี้ เป็นหนี้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ปริมาณหนี้มากขึ้น และมีภาระหนี้ที่ยาวนานขึ้น

ทุกวันนี้ ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนอยากเป็นหนี้ มีอยู่มากมาย ดักหน้าดักหลังไปหมด ไม่ว่าจะเป็น ช็อปปิ้งออนไลน์, การจัดโปรฯของช่องทางขายออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลดพิเศษ, การให้คะแนนไว้สะสมเพื่อแลกเป็นส่วนลดสำหรับการซื้อครั้งต่อไป หรือข้อเสนอให้ผ่อน 0% ของบัตรเครดิต

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การมีหนี้ ไม่ใช่เรื่องผิด หากเป็นการมีหนี้แบบรู้ประมาณตนว่า ตัวเองมีความสามารถจ่ายหนี้ได้เท่าไร ขณะที่การผ่อนงวดค่าสินค้า ก็เป็นตัวช่วยบริหารการเงินที่ดี หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ตามเวลา

ปัญหามักจะเกิดขึ้นเมื่อคนก่อหนี้มากขึ้นจนเกินตัว คือ มีหนี้มากเกินกว่าตัวเองจะมีปัญญาหาเงินมาจ่ายได้ ปกติแล้ว หนี้สินที่เกิดจากการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ควรมีสัดส่วนเกิน 10-20% ของรายได้ต่อเดือน หากรวมหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถด้วยแล้ว ก็ไม่ควรเกิน 35-45% ของรายได้ต่อเดือน

ทีนี้พอใช้จ่ายเกินรายได้ก็ส่งผลให้หลายบ้านไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งตามหลัก ทุกบ้านควรเก็บเงินก้อนนี้ไว้อย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อใช้จ่ายตอนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิด เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ แต่พอเจอหนี้สู้กลับ การจะมีเงินก้อนนี้ก็ไม่ต้องพูดถึง

หนักขึ้น คือ การเอาเงินในอนาคตมาใช้จ่าย ผ่านการใช้บัตรเครดิต รูดปรื๊ดๆ แลกกับข้าวของที่ไม่จำเป็น สิ่งของฟุ่มเฟือย และเหล่าของมันต้องมีทั้งหลาย

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณบอกตัวเองให้รู้ว่า กำลังตกอยู่ในสภาพของการสร้างหนี้เกินตัว เมื่อเรารู้ตัวแล้ว ก็ควรต้องรีบปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้เงินใหม่อย่างด่วน

นอกจากนี้ การรู้จักความแตกต่างของหนี้แต่ละตัว เพื่อที่จะบริหารจัดการหนี้ของตัวเองได้ถูกวิธีและเหมาะสม ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะหนี้แต่ละแบบ เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน และรถยนต์ ก็มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของวิธีคำนวณและอัตราดอกเบี้ย, ค่าธรรมเนียม

รู้ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แล้ว ก็จะทำให้เรารู้สู้หนี้ได้แน่นอน

สำหรับคนที่สนใจ อยากเรียนรู้เทคนิคและการวางแผนเพื่อชำระหนี้อย่างถูกต้อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีแคมเปญ “รู้สู้หนี้” แหล่งรวมความรู้ที่ครบจบในที่เดียว เข้าไปเรียนฟรีได้เลยที่ https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/campaign2022

คุณนายพารวย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ