โบกมือลาเงินกู้นอกระบบ รู้จัก 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ง่ายช่วยประชาชน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

โบกมือลาเงินกู้นอกระบบ รู้จัก 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ง่ายช่วยประชาชน

Date Time: 2 ก.ย. 2565 16:18 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • รู้จัก 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ง่ายช่วยประชาชน ไม่ต้องไปพึ่งพา "เงินกู้นอกระบบ" พร้อมแนะทางออกสำหรับผู้ที่เป็นหนี้ในระบบ ต้องการแก้ไขหนี้สินก่อนเป็นหนี้เสีย

รู้จัก 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ง่ายช่วยประชาชน ไม่ต้องไปพึ่งพา "เงินกู้นอกระบบ" พร้อมแนะทางออกสำหรับผู้ที่เป็นหนี้ในระบบ ต้องการแก้ไขหนี้สินก่อนเป็นหนี้เสีย

ทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" จะพาไปรู้จักสินเชื่อเพื่อแก้ไข้หนี้นอกระบบ และสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ที่ถูกกฎหมายกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ 

  • สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยธนาคารออมสิน

วัตถุประสงค์ในการกู้ : เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดจากการประกอบอาชีพ หรือการอุปโภคบริโภค แต่ต้องไม่เป็นการนำไปชำระรีไฟแนนซ์ (Re-Finance) หนี้ในระบบ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ต้องนำเงินที่ได้มานั้นไปจ่ายเจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน

วงเงินกู้ : ให้กู้ตามจำนวนหนี้นอกระบบจริง และดูตามความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งจะให้กู้เงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท

อัตราดอกเบี้ย : ดอกเบี้ยคงที่ หรือ Flat Rate ร้อยละ 1 ต่อเดือน

ระยะเวลาการชำระ : ไม่เกิน 5 ปี

ค่าธรรมเนียม : 100 บาทต่อสัญญา

คุณสมบัติผู้สมัคร มีดังนี้

- เป็นผู้ที่มีการประกอบอาชีพ มีรายได้
- สัญชาติไทย มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่อรวมอายุของผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ ต้องไม่เกิน 65 ปี
- มีถิ่นที่อยู่แน่นอน มีสถานที่ประกอบอาชีพ สามารถติดต่อได้
- เป็นผู้ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ (นร.1) สามารถลงทะเบียนได้ในวันที่ขอกู้จากธนาคาร

หลักประกันเงินกู้ : ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน

เอกสารประกอบการขอกู้ มีดังนี้

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน
- เอกสารแสดงรายได้ในการประกอบอาชีพ สมุดบัญชีเงินฝาก สลิปเงินเดือน (ถ้ามี)
- เอกสารรายรับ/รายจ่าย (ถ้ามี)
- รูปถ่ายสถานที่ประกอบอาชีพ
- กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นำสำเนาหลักทรัพย์ที่จะค้ำประกันไปด้วย

  • พิโกไฟแนนซ์ ที่กำกับโดยกระทรวงการคลัง 

สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ คือ สินเชื่อในระบบเพื่อรายย่อยในท้องถิ่น ซึ่งแนวคิดนี้กระทรวงการคลังได้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการกู้ยืมนอกระบบ โดยผู้ที่ปล่อยเงินกู้นั้นจะต้องมีใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเท่านั้น (ดูรายชื่อ บริษัทที่ปล่อยพิโกไฟแนนซ์ ได้ ที่นี่)

วงเงินกู้พิโกไฟแนนซ์ : ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย

วงเงินกู้พิโกพลัส : ไม่เกิน 100,000 บาท

ดอกเบี้ย : พิโกไฟแนนซ์ ไม่เกิน 36% ต่อปี

ส่วน พิโกพลัส แยกสัญญากู้เงินเป็น 2 สัญญา

- เงินกู้ 50,000 บาทแรก ไม่เกิน 36% ต่อปี

- เงินกู้ที่เกินกว่า 50,000 บาท ไม่เกิน 28% ต่อปี

คุณสมบัติผู้กู้ : เป็นบุคคลธรรมดา มีทะเบียนบ้านหรือถิ่นที่อยู่ ทำงาน หรือพักอาศัยภายในจังหวัด และมีความสามารถในการชำระหนี้

หลักประกัน : อาจมี หรือไม่มีหลักประกันการกู้ยืม แล้วแต่ผู้ให้กู้จะกำหนด

แก้ไขหนี้สินก่อนจะเป็นหนี้เสีย

สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ในระบบ และต้องการแก้ไขหนี้สินก่อนจะเป็นหนี้เสีย สามารถขอรับคำปรึกษา และเข้าร่วม มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ในครั้งนี้จะจัดผ่านช่องทางออนไลน์ และการจัดสัญจรใน 4 ภาคทั่วประเทศ แบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 เปิดโครงการการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือกับเจ้าหนี้ผ่านระบบออนไลน์ เริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. ถึง 30 พ.ย. 2565 เป็นเวลา 2 เดือน

โดยกระทรวงการคลัง และ ธปท.ได้จับมือกับธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ บริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ซึ่งล่าสุดตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้ว 56 ราย

ลูกหนี้ที่สามารถเข้าโครงการแก้หนี้ ประกอบด้วย สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อทุกประเภทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ทั้งนี้ เงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะยังให้สิทธิประโยชน์จูงใจในการปรับโครงสร้างหนี้ และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ทั้งนี้ลูกหนี้ที่สนใจสามารถที่จะลงทะเบียนได้ที่ www.bot.or.th รวมทั้งติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ และหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ศคง. โทรศัพท์ 1213 หรือ E-mail : fcc@bot.or.th 

ระยะที่ 2 ช่วง พ.ย.65 ถึง ม.ค.66 จะเป็นการแก้ไขหนี้เดิมที่ยังเหลืออยู่ ควบคู่กับการให้สินเชื่อใหม่ และการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน โดยกระทรวงการคลัง และ ธปท.จะร่วมกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจะเพิ่มโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินของรัฐ โดยจะจัดงานมหกรรมสัญจรทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ