NITMX พัฒนาระบบพร้อมเพย์ รองรับธุรกรรมสูงสุด 1 หมื่นรายการต่อวินาที

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

NITMX พัฒนาระบบพร้อมเพย์ รองรับธุรกรรมสูงสุด 1 หมื่นรายการต่อวินาที

Date Time: 29 ส.ค. 2565 14:31 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • NITMX พัฒนาระบบ "พร้อมเพย์" เพิ่มศักยภาพระบบรองรับธุรกรรมสูงสุด 10,000 รายการต่อวินาที พร้อมพัฒนา PromptBiz เสริมขีดความสามารถแข่งขันภาคธุรกิจไทย

Latest


NITMX พัฒนาระบบ "พร้อมเพย์" เพิ่มศักยภาพระบบรองรับธุรกรรมสูงสุด 10,000 รายการต่อวินาที พร้อมพัฒนา PromptBiz เสริมขีดความสามารถแข่งขันภาคธุรกิจไทย 

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 65 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMX กล่าวว่า NITMX เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมาตรฐานระบบการชำระเงินที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะ ระบบพร้อมเพย์ หรือ PromptPay ทำให้การชำระเงินและโอนเงินสะดวกรวดเร็วขึ้น ถึงมือผู้รับโดยตรง โปร่งใส และไม่มีค่าธรรมเนียม 

ปัจจุบัน ณ สิ้นเดือน มิ.ย.65 มีจำนวนผู้ลงทะเบียน PromptPay อยู่ที่ 70 ล้านหมายเลข เพิ่มขึ้น 22.1% จากช่วงเดียวกันของปี 64 มียอดการโอนเงินเฉลี่ย 38.7 ล้านรายการต่อวัน เพิ่มขึ้น 59.3% มูลค่ารวม 1.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการช่วยผลักดัน Digital Payment ของประเทศให้เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนหันมาใช้จ่ายผ่านดิจิทัลแทนเงินสดมากขึ้น

โดยปี 2564 มีธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารกว่า 10,000 ล้านรายการ และมีเงินหมุนเวียนผ่านระบบ ITMX มูลค่ารวม 39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าของ GDP ของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2565 จากช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 65 มีธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารกว่า 6,000 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 23 ล้านล้านบาท

นายผยง กล่าวอีกว่า ภายในสิ้นปีนี้ NITMX มีแผนจะเพิ่มศักยภาพระบบให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้สูงสุด 10,000 รายการต่อวินาที จากเดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ 6,000 รายการต่อวินาที เพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่า จากปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มเปิดใช้ระบบพร้อมเพย์

ขณะที่จำนวนธุรกรรมสูงสุดในปัจจุบันอยู่ที่ 2,900 รายการต่อวินาที จึงมั่นใจได้ว่าระบบการชำระเงินของไทย ภายใต้การพัฒนาของ NITMX มีประสิทธิภาพทั้งในด้านศักยภาพการรองรับธุรกรรม และความมีเสถียรภาพที่ทำให้การทำธุรกรรมเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย

ทั้งนี้ NITMX มุ่งมั่นพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภายใต้ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินตามแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินดิจิทัล

สำหรับภาคธุรกิจ หรือ PromptBiz สนับสนุนการทำธุรกรรมการค้าให้เป็นดิจิทัลแบบครบวงจร โดยเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าและการชำระเงินของภาคธุรกิจ ผ่านผู้ให้บริการทางการเงินและเชื่อมต่อกับระบบภาษีของภาครัฐ แก้ Pain Point การทำธุรกิจแบบเดิมที่ยังใช้เอกสารกระดาษ มีต้นทุนสูง มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ง่าย เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือคนตัวเล็กให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง 

พร้อมให้ความสำคัญกับมิติของความยั่งยืน ผ่านการพัฒนาระบบการชำระเงินที่มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น บนต้นทุนที่เหมาะสม โดยระบบยังส่งเสริมให้เกิดการปล่อยสินเชื่อโดยอาศัยข้อมูล หรือ Information-Based Lending

โดยนำข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) มาใช้ในการพิจารณาให้สินเชื่อ เช่น ข้อมูลธุรกรรมการค้า นับเป็นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลใหม่ที่จะช่วยให้การให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ SME มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง

นางสาววรรณา นพอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด กล่าวว่า เพื่อก้าวต่อไปอย่างมั่นคง NITMX กำหนดแผนธุรกิจในปี 2565 มุ่งสร้างศักยภาพและเสถียรภาพการให้บริการระบบต่างๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบบริการทางการเงินในปัจจุบันและอนาคต พร้อมยกระดับศักยภาพ Next Generation Digital Infrastructure

ทั้งนี้ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเพื่อการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัลรองรับแผนของ ธปท. ที่จะผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพการชำระเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับภาคธุรกิจในโครงการ PromptBiz ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถและเสถียรภาพโดยการขยายระบบรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ NITMX ยังศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางต้นทุนสูงสุดในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน National Digital Trade Platform เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีการค้าโลก.
 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ