ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย ช้าเกินไปหรือไม่

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย ช้าเกินไปหรือไม่

Date Time: 27 ส.ค. 2565 06:01 น.

Summary

  • ในการประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา กนง. ได้ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ต่อปี ถือเป็นการปรับทิศทางการดำเนินนโยบาย

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank


ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในการประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา กนง. ได้ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ต่อปี ถือเป็นการปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินครั้งแรกหลังจากคงดอกเบี้ยระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เป็นเวลากว่า 2 ปี หากเทียบกับหลายประเทศอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ หรือประเทศในภูมิภาคอย่างมาเลเซีย ที่ต่างก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วตั้งแต่ต้นปีนี้ หลายคนอาจสงสัยและตั้งคำถามว่า การขึ้นดอกเบี้ยของไทยช้าเกินไปหรือไม่ บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอพูดถึงเรื่องนี้กันค่ะ

ศัพท์ในวงการเศรษฐศาสตร์ คำว่า “behind the curve” เป็นคำที่มักจะถูกยกมาอ้างถึง เมื่อพูดถึงการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางในเวลาที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งหากธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป จนทำให้เงินเฟ้อเริ่มควบคุมไม่ได้และส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวของแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จะส่งผลเสียต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกมากในระบบเศรษฐกิจ เช่น จะเห็นการเพิ่มขึ้นของค่าแรงและราคาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจตัดสินใจชะลอการลงทุนจากต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจเพิ่มขึ้นมาก กำลังซื้อและรายได้หลักหักเงินเฟ้อถดถอยลง ซึ่งอาจกระทบความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากการแก้ปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรงนั้นทำได้ยาก

สำหรับกรณีไทย หลายคนอาจกังวลว่าแบงก์ชาติอาจเจอปัญหาเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่ในปีก่อนเฟดมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการฟื้นตัว ขณะที่เงินเฟ้อแม้จะสูงขึ้นแต่คาดว่าจะสูงขึ้นชั่วคราว ทำให้เฟดยังดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายจนถึงปลายปีที่แล้ว ก่อนค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางนโยบายและขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งกว่าเฟดจะรู้ตัวก็พบว่า behind the curve หรือขยับช้าไปมาก จนต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อแตะเบรกเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในมุมมองของแบงก์ชาติ บริบทด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยสะท้อนว่าการขึ้นดอกเบี้ยในเวลานี้ไม่ช้าเกินไป ในด้านเศรษฐกิจ หลายประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้า ส่วนใหญ่เริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิดแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังโตไม่ถึงระดับก่อนโควิด โดยคาดว่าจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ก่อนโควิดภายในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ในด้านเงินเฟ้อ หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ นอกจากจะเผชิญกับเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานหลังราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังเกิดจากเศรษฐกิจที่โตร้อนแรง จนทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อชะลอเงินเฟ้อให้ปรับลดลง ขณะที่เงินเฟ้อของไทยปรับสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ซึ่งข้อมูลในอดีตชี้ว่าราคามักจะปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวและจะคลี่คลายลงได้เอง และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพื่อดูแลเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานอาจช่วยลดเงินเฟ้อได้ไม่มากนัก

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าด้วยบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยที่แตกต่างจากหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยสู่ระดับปกติ จึงเกิดขึ้นช้ากว่าและไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับต่างประเทศ แต่จะเน้นการดำเนินนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทของไทยมากกว่า ซึ่งโจทย์ของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันคือการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องและไม่สะดุด การปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงคงต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยขนาดและความเร็วขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพการเงิน แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ช้าเกินไปจนต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงในภายหลังค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ