นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการทางการเงินรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาต่อเนื่อง แต่ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เห็นว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว และเริ่มส่งผลดีต่อสถานะของลูกหนี้หลายกลุ่ม ขณะที่ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง ทำให้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ผ่อนปรนและมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้าง มีความจำเป็นลดลง และสามารถทยอยปรับเข้าสู่ระดับปกติได้ โดยยังเน้นมาตรการเฉพาะจุดเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางมากขึ้น จึงเห็นควรปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล
1.ยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผล จากเดิมที่จำกัดอัตราการจ่ายไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี ให้สามารถจ่ายได้ตามปกติ เนื่องจากผลการทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายใต้ภาวะวิกฤติ ชี้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่งเพียงพอรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าได้
2.ปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป จากที่เคยปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปช่วยเหลือลูกหนี้ ในช่วงโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การนำส่งเงินเข้า FIDF ที่อัตรา 0.23% ยังมีผลถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งทำให้สถาบันการเงินยังบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อยู่
3.การดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบยังทำต่อเนื่อง โครงการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน โครงการพักทรัพย์ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และในครั้งนี้ ธปท.ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบาง โดยขยายการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 และผ่อนเพิ่มเป็น 8% ในปี 2567 โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 2568 คงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 1 ปี ออกไปจนถึงสิ้นปี 2566 จากเกณฑ์ปกติที่กำหนดไว้ 6 เดือน.