กสิกรไทย คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง สกัดเงินเฟ้อ พยุงเงินบาท

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

กสิกรไทย คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง สกัดเงินเฟ้อ พยุงเงินบาท

Date Time: 24 มิ.ย. 2565 16:48 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • กสิกรไทย คาด กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในเดือน ส.ค. และ พ.ย. สกัดเงินเฟ้อ พยุงเงินบาท แนะจับตา เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย

Latest


กสิกรไทย คาด กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในเดือน ส.ค. และ พ.ย. สกัดเงินเฟ้อ พยุงเงินบาท แนะจับตา เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 65 นี้ ยังคงมีความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 และผลพวงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

รวมถึงนโยบายการเงินของเฟดที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดที่ระดับ 0.75% จะยังมีการปรับขึ้นในอัตราที่เข้มข้นต่อไปเพื่อสกัดกั้นอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจากสถิติการปรับขึ้นอัตราดอกบี้ยในระดับสูงของเฟด 11 ใน 14 ครั้ง ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา

ในครั้งนี้ก็มีความกังวลเช่นกัน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้มาจากฝั่งอุปทาน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อการใช้จ่ายประชาชนให้ลดลง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินเฟ้อหลักๆ มาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และปัญหาคอขวดอุปทานที่ยังมีอยู่ แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการลดเงินใช้จ่ายในมือของประชาชน ก็จะทำให้เป็นห่วงว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ขณะที่ต้นตอปัญหาที่แท้จริงก็ยังไม่ได้ถูกแก้ ซึ่งจริงๆ แล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองอาจจะเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วก็เป็นได้ สะท้อนได้จากภาวะตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้นที่เข้าสู่ภาวะซบเซา แสดงให้เห็นว่าการคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไม่น่าจะดี

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทรงตัว หรือชะลอหรือยัง เชื่อว่าในช่วง 2 เดือนนี้น่าจะเห็นภาพที่ชัดขึ้น และหลังจากนั้นต้องมาดูว่าเฟดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายที่เข้มข้นนี้หรือไม่

สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ในปีนี้คาดว่า จะเกิดขึ้น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในการประชุมเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อรอประเมินสถานการณ์หลังจากปรับขึ้นก่อน เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้งก็มีต้นทุนที่ต้องเสีย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือภาคครัวเรือน

แต่หากปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นเรื่อยๆ ก็มีผลเสียเช่นกัน และหากจะต้องปรับขึ้นก็น่าจะเป็นช่วงการประชุมในเดือนพฤศจิกายนอีกครั้ง ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ น่าจะส่งผลดีต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มองว่าการอ่อนค่าของเงินบาทที่เกิดขึ้น ปัจจัยหลักๆ มาจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราเข้มข้น และมีแนวโน้มที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงระดับ 3.50% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ รวมถึงการที่ประเทศอื่นได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาระยะหนึ่งแล้ว ไทยก็จำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นตาม เพื่อลดช่องว่าง และรักษาเสถียรภาพของเงินบาท

นายกอบสิทธิ์ คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนไปอีกระยะหนึ่งและมีจุดอ่อนสุดที่ประมาณ 36.00 บาทต้นๆ หรือเมื่อเฟดมองว่าไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวแล้ว และประเมินว่าช่วงปลายปีเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวดีกว่าเดิม ส่งผลให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่มีภาพของการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดย 4 เดือนแรกของปีที่เกือบ 800,000 ราย จากสิ้นสุดเดือนเมษายนปีก่อนมียอดเพียง 8,000 คน และอาจจะได้รับอานิสงส์จากฤดูกาลท่องเที่ยวในยุโรปที่จะมาเมืองไทยมากขึ้น เพื่อหนีฤดูหนาวที่ยังมีปัญหาเรื่องพลังงานเชื้อเพลิง

ดังนั้น จึงมองว่า น่าจะเป็นปัจจัยที่สามารถเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจชดเชยภาคการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 3.4%ในปีนี้ แต่การฟื้นตัวก็ยังคงเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่เท่าเทียมกัน ประกอบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย ได้แก่ นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับเข้ามา จึงต้องมีการปรับตัวอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันต่างจากปี 2540 ปัจจุบันเรามีฐานเป็นเจ้าหนี้ ไม่ใช่เป็นลูกหนี้ เงินสำรองทางการยังมีความแข็งแกร่ง แต่สิ่งที่สำคัญคือจะต้องใช้อย่างเหมาะสม และใช้อย่างชาญฉลาด เพราะหากเข้าไปดูแลมากก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการปัดภาระให้ทางการรับผิดชอบอย่างเดียว การดูแลที่ ธปท.ทำอยู่หลักๆ ก็คือไม่ให้ค่าเงินมีความผันผวนมากเกินไป

หากดูค่าความผันผวนปัจจุบัน ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 รองจากเกาหลี อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง เพราะไม่ได้ไปทำให้สงครามจบแล้วราคาน้ำมันลด แต่ก็จะเป็นการดูแลค่าเงินบาทในอีกทาง และอาจจะเหมาะสมกว่าการใช้ทุนสำรองดูแลค่าเงินบาทไปเรื่อยๆอย่างในปัจจุบัน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ