บทบาทตลาดแรงงานไทยในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

บทบาทตลาดแรงงานไทยในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว

Date Time: 11 มิ.ย. 2565 05:55 น.

Summary

  • การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า” เป็นประโยคก่อนปิดการแถลง

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank


ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

“การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า” เป็นประโยคก่อนปิดการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2565 ซึ่งผลการประชุมมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด ในวันนี้จึงขอเชิญทุกท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองต่อตลาดแรงงานไทยในฐานะข้อต่อสำคัญที่จะสะท้อนว่าเมื่อใดที่ฟื้นตัวเข้มแข็งต่อเนื่องเพียงพอแล้ว

ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นยอดขายสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการเพิ่มกำลังการผลิต โดยเพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อด้วยขยายการจ้างงาน ตลาดแรงงานที่ตึงตัวในภาพรวมจะกระตุ้นให้ค่าจ้างปรับสูงขึ้น วนกลับมาส่งผลบวกให้แรงงานที่มีรายได้มากขึ้น บริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น จนทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงและเกิดแรงกดดันด้านอุปสงค์ต่อเงินเฟ้อในที่สุด อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติโควิด-19 จึงต้องทบทวนว่าตลาดแรงงานจะมีความพร้อมในการเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงฟื้นตัวหรือไม่

โดยนครินทร์ อมเรศ และพรชนก เทพขาม 2565 “ความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจในระบบ กับเศรษฐกิจในภาพรวม : นัยต่อตลาดแรงงานไทย” พบว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้ยอดขายสินค้าและบริการที่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวถึงร้อยละ 9.6 ในปี 2563 จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.4 ในช่วงสามปีก่อนหน้า โดยทุกการหดตัวของยอดขาย ร้อยละ 1 ในช่วงวิกฤติ ทำให้ 1.การจ้างงานในระบบประกันสังคมหดตัวร้อยละ 0.44 ต่างจากก่อนวิกฤติที่ไม่เห็นความสัมพันธ์ด้านบวกนัก 2.ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างในระบบประกันสังคมหดตัวร้อยละ 0.12 ต่างจากก่อนวิกฤติที่ไม่เห็นความสัมพันธ์ด้านบวกนัก 3.ผลิตภาพแรงงานหดตัวร้อยละ 0.66 ต่ำกว่าในอดีตที่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มร้อยละ 1.18 ต่อการเพิ่มยอดขาย ร้อยละ 1 และ 4. รายได้ต่อหัวหดตัวร้อยละ 0.67 ต่างจากก่อนวิกฤติที่ไม่เห็นความสัมพันธ์ด้านบวกนัก

น่าสังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่างการขยายตัวของยอดขายกับตลาดแรงงานในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้มีมากนัก ต่างจากในช่วงวิกฤติที่ผู้ประกอบการปรับลดการจ้างงาน จนส่งผลกระทบต่อค่าจ้าง ผลิตภาพแรงงาน และรายได้ต่อหัวอย่างชัดเจน ดังนั้น หากความสัมพันธ์ระหว่างยอดขายกับตลาดแรงงานในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวในปัจจุบันจะกลับไปเหมือนกับช่วงก่อนวิกฤติ เราอาจจะไม่ได้เห็นผลบวกที่มีต่อตลาดแรงงานจากการที่ยอดขายขยายตัวสูงถึงร้อยละ 20.5 ในไตรมาสแรกของปี 2565 เทียบกับปีก่อนก็เป็นได้ จึงยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

โดยสรุปแล้ว กลไกตลาดแรงงานมีความสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้น จากปัจจัยด้านบวกของการบริโภคที่ฟื้นตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และผลของความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด ตลาดแรงงานจึงเป็นข้อต่อสำคัญในการส่งผ่านผลบวกของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไปยังครัวเรือนในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความเข้มแข็งของการบริโภคและวนกลับมาเป็นกำลังซื้อให้กับผู้ประกอบการ จนกระทั่ง ส่งผลต่อการตัดสินใจขึ้นราคาสินค้าและบริการในที่สุด

เมื่อกลไกดังกล่าวขับเคลื่อนเพียงพอ และทั่วถึงแล้วอาจเป็นเวลาที่เหมาะสม ตามที่ผลการประชุม กนง. ประโยคสุดท้ายระบุว่า “คณะกรรมการ จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ