ถล่มหนี้ให้ราบ!!

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ถล่มหนี้ให้ราบ!!

Date Time: 20 พ.ค. 2565 05:18 น.

Summary

  • ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับหน้าตาเว็บรูปแบบใหม่ บอกได้เลยว่า คุณนายพารวยจะค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องที่สนใจ ทำได้สะดวก และประหยัดเวลาขึ้นเยอะ แถมยังไม่พลาดเนื้อหา สาระหลายเรื่องที่อาจ

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับหน้าตาเว็บรูปแบบใหม่ บอกได้เลยว่า คุณนายพารวยจะค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องที่สนใจ ทำได้สะดวก และประหยัดเวลาขึ้นเยอะ แถมยังไม่พลาดเนื้อหา สาระหลายเรื่องที่อาจเคยหลุดรอดสายตา

เช่น บทความเรื่อง “เทคนิคกำจัดหนี้แบบหิมะถล่ม” ที่ว่าด้วยเรื่องเทคนิคการจัดการหนี้ อ่านแล้วน่าสนใจดี เลยอยากให้คนมีหนี้ทั้งหลายเข้าไปอ่าน เพื่อรู้เทคนิคจัดการหนี้ และมีแรงบันดาลใจในการปลดบ่วงหนี้หลายก้อนของตัวเอง

ส่วนใหญ่แล้ว คนที่มีหนี้หลายก้อนมักจะใช้วิธีปิดหนี้ด้วยการเคลียร์หนี้ก้อนที่เล็กที่สุดให้หมดก่อน ส่วนก้อนอื่นที่โตกว่า ก็จะใช้การจ่ายขั้นต่ำไป พอปิดหนี้ก้อนหนึ่งได้ ก็จะไล่มาปิดหนี้ก้อนที่โตขึ้นเป็นลำดับต่อไป ซึ่งในบทความนี้ บอกว่าวิธีนี้เป็นการมองแค่ตัวเลขหนี้อย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ยของหนี้แต่ละก้อนเลยว่ามากน้อยอย่างไร บางทีหนี้ก้อนที่ยังเหลืออาจมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหนี้ก้อนเล็กที่เราเลือกจะปิดก่อนก็ได้

ก็เลยมีการเสนอเทคนิคการจัดการหนี้อีกวิธีที่ดูว่าเหมาะกับคนประเภทมีหนี้สินหลายก้อน และแต่ละก้อนมีอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน โดยล็อกเป้าเคลียร์หนี้ก้อนที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดเสียก่อน

เริ่มจากต้องหยุดสร้างหนี้ใหม่เป็นอย่างแรก แล้วมาสำรวจบรรดาหนี้ที่มีอยู่ ทำการไล่เรียงลำดับหนี้จากก้อนที่ดอกเบี้ยสูงไปหาต่ำ จากนั้นดูความสามารถในการจ่ายหนี้ของตัวเองว่าในแต่ละเดือนหลังหักค่าใช้จ่ายและเงินสำรองแล้ว ตัวเองมีเงินเหลือเพื่อการจ่ายหนี้ได้เท่าไร

สมมติเรามีหนี้ติดตัวอยู่ 3 ก้อน ก้อนแรก หนี้ 30,000 บาท ดอกเบี้ย 5% ต่อปี ยอดชำระขั้นต่ำ 2,000 บาท, ก้อนที่สอง หนี้ 40,000 บาท ดอกเบี้ย 18% ต่อปี ยอดชำระขั้นต่ำ 4,000 บาท และก้อนสาม หนี้ 50,000 บาท ดอกเบี้ย 8% ต่อปี ยอดชำระขั้นต่ำ 3,000 บาท

หากเรามีความสามารถผ่อนจ่ายหนี้ได้ เดือนละ 10,000 บาท หักจ่ายขั้นต่ำของหนี้ทั้งสามก้อนแล้ว ก็ให้นำเงินส่วนที่เหลืออยู่ 1,000 บาท ไปโปะหนี้ก้อนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน และเมื่อปิดหนี้ก้อนนี้หมดไป ก็เท่ากับว่าเราจะมีเงินสำหรับผ่อนจ่ายหนี้ต่อเดือนเหลือเพิ่มขึ้น ก็ให้นำมาโปะจ่ายหนี้ก้อนที่เหลือที่มีดอกเบี้ยสูงเป็นลำดับถัดมา ทำแบบเดียวกันนี้จนเคลียร์หนี้ให้หมดเป็นก้อนๆไป

เทคนิคนี้นอกจากจะร่นระยะเวลาการชำระหนี้ให้สั้นลง ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอัตราดอกเบี้ย เพราะอัตราดอกเบี้ยนั้น คิดแบบทบต้น แต่ก็เหมาะกับคนที่เงินสดเหลือพอ มุ่งมั่นจะกำจัดหนี้ให้หมดจากชีวิตเร็วๆ จึงต้องมีวินัยอย่างมากที่จะ “ถล่มหนี้” ให้ราบคาบเหมือนหิมะถล่มจากยอดเขา

แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีไหน หากเราไม่หยุดสร้างหนี้ใหม่ ใช้เงินเกินตัว ไม่ออมเงิน ไม่วางแผนการเงินดีๆ ให้กับเองแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่จะพาตัวเองโผล่พ้นจากหนี้สินที่กลายเป็นกองหิมะทับถมตัวเองได้เป็นแน่

สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคบริหารจัดการหนี้ การเก็บออม การลงทุน เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ ผ่าน e–Learning ทางเว็บตลาดหลักทรัพย์ฯได้เลย.

คุณนายพารวย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ