แบงก์ชาติงงคนไทยอยากใช้เงินสด

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แบงก์ชาติงงคนไทยอยากใช้เงินสด

Date Time: 30 เม.ย. 2565 07:14 น.

Summary

  • กลุ่มตัวอย่างทุกคนยังคงพกเงินสดติดกระเป๋า โดย 50% ยังคงใช้เฉพาะเงินสด เพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ใช้ที่ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารริมทาง ร้านรถเข็น มีส่วนน้อยที่ใช้ e-payment

Latest

ขายยากไม่พอ ยังถูก“กดราคา” Roddonjai ลุยตลาดรถมือสอง ตั้งราคาขายเองได้ คนซื้อไม่เจอ “รถโจร-รถซาก”

วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยเรื่องเงินๆทองๆกันสักวันนะครับ แมกกาซีน “พระสยาม” ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไตรมาสแรกไปสำรวจ “เจาะลึกพฤติกรรมการชำระเงินประจำวันของคนไทย” แล้วพบคำตอบอันน่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐสิ้นสุดลง กลุ่มตัวอย่าง 65% จะเลิกใช้แอป “เป๋าตัง” กลับไปใช้เงินสด มีเพียง 27% ของกลุ่มตัวอย่างที่บอกว่า จะใช้แอป “เป๋าตัง” ต่อไป

เป็นคำตอบที่ท้าทายและทำให้ แบงก์ชาติ เกิดความงงเป็นอย่างยิ่ง

การสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นจากความสงสัยของแบงก์ชาติว่า e-payment ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะแอป “เป๋าตัง” ของ ธนาคารกรุงไทย ที่ประชาชนใช้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น โครงการคนละครึ่ง มีผู้ใช้กว่า 40 ล้านคน แต่ก็ยังมีคนไทยจำนวนมากที่คุ้นชินกับการใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน จึงเกิดคำถามที่สำคัญว่า จริงๆแล้วพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทยส่วนใหญ่เป็นอย่างไรกันแน่ คนไทยนิยมใช้จ่ายด้วยวิธีการใดเป็นหลัก

เมื่อเกิดความสงสัยแล้ว แบงก์ชาติ ก็ริเริ่ม โครงการสำรวจการบันทึกพฤติกรรมการชำระเงินประจำวันของประชาชน (Payment Diary) ผ่านการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวและทางโทรศัพท์รวม 6,020 ตัวอย่าง กระจายตามเพศ ช่วงอายุ พื้นที่อยู่อาศัย อาชีพ ครอบคลุม 7 พื้นที่ทั่วประเทศ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ก่อนเกิดโควิดระลอกที่ 3 มีการประยุกต์ใช้ โมเดลเชิงสังคม-จิตวิทยา เป็นครั้งแรกในเอเชีย เพื่อเจาะหาตัวแปรต่างๆที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทยในเชิงลึก ทั้งการใช้เงินสดและ e-payment

ผลสำรวจออกมาพบว่า กลุ่มตัวอย่างทุกคนยังคงพกเงินสดติดกระเป๋า โดย 50% ยังคงใช้เฉพาะเงินสด เพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ใช้ที่ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารริมทาง ร้านรถเข็น มีส่วนน้อยที่ใช้ e-payment เป็นทางเลือกหลัก จึงอาจตีความได้ว่าการใช้ e-payment ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง น่าจะกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มเท่านั้น

ที่เคยคิดกันว่า สาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้เงินสดเป็นหลัก เพราะขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ เช่น สมาร์ทโฟน หรือเพราะไม่เคยใช้ e-payment มาก่อน แต่ผลสำรวจกลับชี้ให้เห็นว่า คนไทยในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่า 92% มีอุปกรณ์ที่รองรับการชำระเงินผ่าน e-payment และเคยทดลองใช้มาแล้วใน 2 ปีที่ผ่านมา นับได้ว่ามีความพร้อม

การสำรวจ Payment Diary เผยให้เห็นชัดว่า โครงการช่วยเหลือภาครัฐ ในสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง” เป็นแรงจูงใจสำคัญให้คนไทยทดลองใช้และเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาชำระเงินด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ ทำให้ร้านค้าปรับตัวเพื่อรับชำระเงินด้วย e-payment ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร โชห่วย หาบเร่ แผงลอย ตลาดนัด หรือ ฟู้ดดีลิเวอรี ทำให้สัดส่วนการใช้แอป “เป๋าตัง” ในช่วงการสำรวจสูงกว่าการใช้ e-payment ช่องทางอื่น

ผลสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าแปลกใจว่า หากโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐสิ้นสุดลง มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 27% ที่จะยังใช้แอป “เป๋าตัง” ต่อไป และ อีก 36% จะใช้ Mobile Banking เพิ่มขึ้น ในขณะที่ กลุ่มตัวอย่างกว่า 65% จะกลับไปใช้เงินสด

คำตอบนี้ทำให้ แบงก์ชาติ งงเป็นอย่างยิ่ง แต่ละคนก็มีเหตุผลต่างกัน เช่น แฟนและเพื่อนใช้เงินสด คิดว่าร้านค้าน่าจะอยากรับเงินสด ได้รับค่าจ้างเป็นเงินสดก็จ่ายด้วยเงินสด คิดว่าใช้เงินสดมันเร็วกว่า แต่มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเจอกับตัวเองบ่อยๆ จ่ายเงินสดมีส่วนลด 5-10% โดยเฉพาะร้านอาหารและบริการอีกหลายอย่าง

คงอีกนาน แต่นานแค่ไหนไม่รู้กว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ Cashless Society สังคมไร้เงินสด ได้อย่างสมบูรณ์ ตอนนี้แบงก์ชาติเลยต้องเปลี่ยนโหมดไปสู่ สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง Less-cash Society ไปพลางก่อน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ