ธนาคารทิสโก้ห่วงราคาสินค้าของไทยพุ่งสูงรอบ 13 ปี หวั่นกระทบคนสูงวัยเงินเกษียณไม่พอใช้
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 65 นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทรนด์สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society เป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
โดยจากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ในปี 2566 โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2576 โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่พบในไทย คือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมพร้อมด้านการเงินสำหรับไว้ใช้จ่ายในช่วงชีวิตหลังเกษียณ ทำให้มีปัญหาด้านการเงิน สภาพความเป็นอยู่ อีกทั้งสุขภาพที่เสื่อมถอยลง มีโรคประจำตัว บุตรหลานไม่มีเวลาเพียงพอที่จะมาดูแลได้ และถึงแม้จะมีสวัสดิการจากภาครัฐฯ แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย
นอกจากนี้ สิ่งที่ธนาคารทิสโก้เป็นห่วงมากที่สุดคือ อัตราเงินเฟ้อ ที่หนุนให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนมีนาคม 2565 ได้พุ่งสูงถึง 5.73% เมื่อเทียบกับปีก่อน 64 ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งผลของราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นกลายเป็นภาระของผู้บริโภคทุกคนรวมถึงผู้สูงอายุที่ต้องนำเงินออมออกมาใช้เพิ่มขึ้นเพื่อคงคุณภาพการดำรงชีวิตประจำวัน
ปัญหาดังกล่าวยังไม่นับรวมกับค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายหลักหลังเกษียณมีแนวโน้มปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 8% อีกด้วย และถ้ามองเรื่องของการลงทุนในวัยที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก การพึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำก็อาจไม่เพียงพอกับเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ จึงเป็นข้อกังวลของธนาคารทิสโก้ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน ที่เกรงว่าเงินก้อนก่อนเกษียณของผู้สูงอายุที่เคยเตรียมมาก่อนหน้านี้อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายไปจนถึงบั้นปลายชีวิต
นายณัฐกฤติ กล่าวอีกว่า ปัญหาเงินออมไม่พอกับรายจ่ายของผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่ธนาคารทิสโก้พยายามสื่อสารมาโดยตลอด ปัจจัยเสี่ยงมาจากแนวโน้มของประชากรไทยที่มีอายุยืนยาวขึ้นตามนวัตกรรมการแพทย์ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งล่าสุดจากปัญหาเรื่องเงินเฟ้อที่พุ่งสูงก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ทำให้เงินออมหมดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่คาดว่า ณ อายุ 60 มีเงินเก็บ 3.6 ล้านบาทนำไปลงทุนหลังเกษียณเพื่อสร้างผลตอบแทนอีก 3% ต่อปี จะทำให้มีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาทไปจนถึงอายุ 80 ปี แต่เมื่อราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น 5% จากปัญหาเงินเฟ้อ ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องนำเงินก้อนออกมาใช้เพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 5%
หรือมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 21,000 บาท กลายเป็นว่าเงินที่เตรียมไว้จะหมดเร็วกว่าที่คาดการณ์ประมาณ 15 เดือนหรือเงินหมดเมื่อายุประมาณอายุ 78 ปี ยิ่งถ้ามีชีวิตที่ยืนยาวกว่า 80 ปีแล้ว ก็จะยิ่งกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก
สำหรับวิธีรับมือกับปัญหาเงินไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ลูกค้า และผู้ที่กำลังวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุ ปรับเปลี่ยนจากการวางแผนเกษียณแบบเดิม เช่น ลงทุนในธุรกิจดั้งเดิมที่แนวโน้มการเติบโตสูงไม่เพียงพอต่อการสร้างเงินก้อนสำหรับเกษียณ การซื้อประกันบำนาญที่เน้นการให้ผลประโยชน์หลังเสียชีวิต โดยเปลี่ยนมาเป็นการวางแผนเกษียณแบบ Megatrends Retirement Planning ดังนี้
1. สร้างผลตอบแทนให้เงินก้อนก่อนเกษียณรูปแบบใหม่ ผ่านการลงทุนในธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก หรือ Megatrend Investment เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าลงทุนในธุรกิจแบบดั้งเดิม
อย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจ e-Commerce เข้ามาพลิกโฉมการซื้อขายสินค้าแบบดั้งเดิม ทำให้หุ้นเจ้าของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์อย่าง Amazon สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยปีละประมาณ 36% ในตลอด 25 ปีนับจากราคา IPO เอาชนะผลตอบแทนดัชนี S&P 500 ซึ่งมีธุรกิจดั้งเดิมอยู่จำนวนมากในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 9%
สำหรับธุรกิจเมกะเทรนด์ของโลกที่น่าสนใจในช่วงนี้ ธนาคารทิสโก้แนะนำการลงทุนในธีม Future Trend of Technology ที่เป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจในโลกยุคดิจิทัล เช่น กลุ่มธุรกิจ Cloud Computing, Cyber Security ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจโลกยุคใหม่อย่าง Metaverse ซึ่งมีโอกาสเติบโตรออยู่มาก
โดย PWC บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ได้ประมาณการมูลค่าตลาดรวม ของ Metaverse ว่ามีแนวโน้มเติบโตในระดับ 26% ต่อปี จากระดับ 1.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 เป็น 1.54 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2573
2. ปกป้องความเสี่ยงหลังเกษียณให้สอดรับกับกระแสโลก หรือ Megatrend Protection โดยใช้ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย และประกันโรคร้ายแรงที่มีทุนประกันสูง ที่เพียงพอสำหรับเลือกใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ และยังเป็นการปกป้องความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ให้เงินก้อนหลังเกษียณหมดกับค่าใช้จ่ายการรักษาที่ใช้เงินจำนวนมาก
รวมถึงควรมีหลักประกันจากประกันบำนาญที่เน้นผลประโยชน์ในขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) มากกว่าผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิต (Death Benefit) ซึ่งปัจจุบันมีประกันบำนาญที่สร้างเงินบำนาญสูงสุดถึง 36% ต่อปี และสามารถเลือกรับเงินบำนาญเป็นรายปีหรือรายเดือน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างกระแสเงินสดในระดับสูงและสม่ำเสมอให้กับชีวิตในช่วงหลังเกษียณไปจนถึงอายุ 99 ปี ลดความกังวลเรื่องเงินไม่พอใช้จนถึงสิ้นอายุขัย.