ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นเร็ว โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัลและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อทุกภาคส่วนรวมถึงภาคการเงิน กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้มาพร้อมกับโอกาสและความเสี่ยงหากผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการเงินไม่สามารถปรับตัวได้ทันการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง แบงก์ชาติได้จัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย โดยเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้สรุปผลการรับฟังเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอนำประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านค่ะ
ภาคส่วนต่างๆเห็นด้วยกับทิศทางของภาคการเงินที่แบงก์ชาติอยากเห็นในอนาคต ภายใต้หลักการความสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 ทิศทาง ได้แก่ 1) เปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 เปิด (3 Open) คือ “เปิดให้แข่งขัน” (Open competition) โดยเปิดให้มีธนาคารรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (virtual bank) และขยายขอบเขตหรือเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้เล่นเดิม “เปิดให้ผู้เล่นต่างๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน” (Open infrastructure) ได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น และ “เปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล” (Open data) ได้สะดวกมากขึ้น โดยเชื่อมต่อฐานข้อมูลของภาคการเงินกับแหล่งอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์และพัฒนาบริการทางการเงิน 2) สนับสนุนให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจการเงินดิจิทัลและรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และ 3) กำกับดูแลอย่างยืดหยุ่นและสร้างภูมิคุ้มกันให้ภาคการเงินรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน
แม้จะเห็นด้วย แต่ ผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เห็นว่า การผลักดันให้แนวนโยบายภายใต้ทิศทางดังกล่าวให้เห็นผลจริงยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ โดยได้ให้ข้อเสนอแนะสำคัญหลายประการ ประการแรก แบงก์ชาติต้องเร่งให้แนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทาง 3 ด้าน เช่น การเปิดให้ผู้เล่นแข่งขันอย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะการเปิดให้ตั้ง virtual bank การให้ผู้ให้บริการทางการเงินเข้ามาทดลองหรือพัฒนานวัตกรรมได้ยืดหยุ่นขึ้น การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับความเสี่ยง แต่มีความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ให้บริการที่ดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงลักษณะเดียวกัน และบทบาทของสถาบันการเงินในเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตามในเรื่องนี้
ประการที่สอง แบงก์ชาติต้องมีแนวทางดูแลความเสี่ยงและผลข้างเคียง ต่อทั้ง 1) ผู้ใช้บริการทางการเงินในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผ่านการให้ความรู้และความคุ้มครอง โดยเฉพาะบริการทางดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่ผู้ใช้ยังไม่คุ้นเคย มีแนวทางรองรับผู้ที่ยังไม่พร้อมปรับสู่การเงินดิจิทัลหรือรับมือกับกระแสด้านสิ่งแวดล้อม และดูแลไม่ให้ผู้ให้บริการแข่งขันกันให้สินเชื่อจนปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้น และ 2) เสถียรภาพระบบการเงิน ที่ต้องกำกับดูแลผู้เล่นใหม่ให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้เป็นจุดอ่อน จนส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม ประการที่สาม ผลักดันให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและต้องมีสิ่งจูงใจเพื่อช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจในการปรับตัวและช่วยกระตุ้นให้ประชาชนปรับพฤติกรรมทางการเงิน
หลังจากปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว คงต้องติดตามว่าแบงก์ชาติจะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้มาใช้กำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินการด้านต่างๆ ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยอย่างไร หวังว่าแนวนโยบายนี้จะช่วยขับเคลื่อนอนาคตภาคการเงินไทยและส่งเสริมภาคส่วนต่างๆของเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าได้อย่างไม่ตกยุคค่ะ
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **