คนไทยฮิตลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล คลัง-ธปท.-ก.ล.ต.จับมือคุมเข้มห้ามใช้แทนเงิน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนไทยฮิตลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล คลัง-ธปท.-ก.ล.ต.จับมือคุมเข้มห้ามใช้แทนเงิน

Date Time: 25 มี.ค. 2565 05:01 น.

Summary

  • ฮิตติดลมบน! คนไทยมีสัดส่วนผู้ถือครองคริปโตเคอร์เรนซีต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงเป็นอันดับ1 ของโลก มีจำนวนบัญชีผู้ใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น 200% ในปีเดียว ธปท.ยืนยันไม่กีดกัน พร้อมเรียนรู้

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ฮิตติดลมบน! คนไทยมีสัดส่วนผู้ถือครองคริปโตเคอร์เรนซีต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก มีจำนวนบัญชีผู้ใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น 200% ในปีเดียว ธปท.ยืนยันไม่กีดกัน พร้อมเรียนรู้หาโอกาสไปด้วยกัน เปิดให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนได้แต่ต้องไม่กระทบผู้ฝากเงิน ชี้ความเสี่ยงเยอะ ไม่สามารถยอมรับให้ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ ด้าน “อาคม” ย้ำคุมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อความมั่นคงของเสถียรภาพระบบการเงินประเทศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยกับสินทรัพย์ดิจิทัล” ในงานสัมมนาสินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต ว่า ภาครัฐพร้อมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่จะเชื่อมโยงโลกดิจิทัล ซึ่งวิกฤติโควิดทำให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น และมีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เมื่อปี 63 ข้อมูลศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่จดทะเบียนประกอบกิจการมีเพียง 9 ราย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 14 ราย ขณะที่มูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท ส่วนมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,000 ล้านบาท และมีผู้ใช้งานหรือมีบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มจาก 170,000 ราย เป็นกว่า 2,000,000 ราย ส่วนการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลผ่าน พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลภาคการเงิน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล

“กำกับ”เพื่อความมั่งคง

นายอาคมกล่าวว่า การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล กระทรวงการคลังมีนโยบายต้องยึดประโยชน์ผู้ลงทุน คุ้มครองไม่ให้เกิดความเสียหาย มี ธปท.ดูแลร่วมกัน และ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีการกำกับดูแลครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเป็นการดูแลระบบเศรษฐกิจ ส่วนกรณีที่ ก.ล.ต.ออกเกณฑ์กำกับการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าหรือบริการนั้น เนื่องจากไทยมีระบบเงินตราอยู่แล้ว หลายประเทศไม่ยอมรับการชำระเงินด้วยระบบนี้ เป็นเรื่องความมั่นคง เสถียรภาพเงินตรา ซึ่งอาจกระทบต่อระบบการเงินของประเทศและของโลกได้ กรณี ก.ล.ต.สั่งห้ามใช้คริปโตเคอร์เรนซีจ่ายค่าสินค้า เพื่อป้องกันการฟอกเงินนั้น ในอดีต ก.ล.ต.ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว มีบริษัทที่ ก.ล.ต.สั่งปิดไป เพราะโยกเงินลูกค้าไปต่างประเทศ แต่สามารถตามกลับมาได้ หลายประเทศป้องกันการฟอกเงิน แต่การกำกับของ ก.ล.ต. และ ธปท.เป็นการกำกับเพื่อให้เกิดความมั่นคงและให้ระบบการเงินของประเทศมีเสถียรภาพ”

คนไทยที่สุดในโลก

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้การลงทุนหรือดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ โดยยืนยันว่า แนวนโยบายของ ธปท.จะไม่ปิดกั้นทั้งหมด หรือไม่ปิดกั้นในทันที แต่จะร่วมเรียนรู้และสร้างโอกาสให้เติบโตร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คนไทยเปิด บัญชีเพื่อซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 63-64 มีการเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นจาก 700,000 บัญชี เป็น 2.27 ล้านบัญชี โตมากกว่า 200% นอกจากนั้น ผลสำรวจออนไลน์พบว่าคนไทยมีสัดส่วนผู้ถือครองคริปโตเคอร์เรนซี ต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงถึง 20.1% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่เพียงแค่ครึ่งเดียวคือ 10.2% รวมทั้งมีผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการเปิดให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น แม้เกณฑ์ล่าสุด ธปท.จะอนุญาตให้ลงทุนได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนรวม ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่ลงทุนกันในต่างประเทศ แต่ ธปท.ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการเอง ต้องเป็นบริษัทในเครือหรือบริษัทลูก โดยต้องระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ฝากเงิน และต้องมีระบบการรู้จักตัวตนของลูกค้าที่ดีเพียงพอ มีมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์คือสถานที่ที่ควรมีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และ ธปท.ไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลซื้อสินค้าและบริการในลักษณะใช้แทนเงินด้วย

ผันผวนสูง–ใช้ในธุรกิจผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคริปโตเคอร์เรนซีมากกว่า 1,500 ชนิด บางเหรียญมาแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว และเหรียญที่เป็นที่นิยมในตลาดล้วนมีอายุไม่ถึง 10 ปี ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเหรียญเหล่านี้จะอยู่ยงคงกระพันระยะยาว นอกจากนั้นคริปโตเคอร์เรนซียังมีราคาผันผวนสูง เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ราคาบิตคอยน์ลดลงถึง 50% ในเวลา 8 เดือน หรือราคาอีเธอเลียมลดลงถึง 30% ความเสี่ยงที่ 2 คือ โอกาสที่จะถูกหลอกลวงหรือถูกฉ้อโกง เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลบางส่วนไม่ได้ถูกกํากับดูแลโดยทางการทําให้มีการใช้ช่องว่างหลอกลวงหรือง่ายต่อการถูกเจาะระบบ มีความเสียหายมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้ ยังอาจมีการใช้คริปโตเคอร์เรนซีทําผิดกฎหมาย เช่น อาชญากรใช้จ่ายค่าไถ่ ฟอกเงิน ทําธุรกรรมในตลาดมืด สนับสนุนการก่อการร้าย เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนและไม่ถูกตรวจพบ

นายพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวถึงเหตุผลที่ ธปท. และ ก.ล.ต.ร่วมกันออกเกณฑ์เพื่อห้ามการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างว่า นอกจากความผันผวนของราคาที่สูงมาก และการถูกใช้ไปในทางผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์แล้ว การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการจำนวนมาก อาจเพิ่มต้นทุนในระบบการชำระเงินของประเทศให้สูงขึ้น ลดประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงิน การดูแลสภาพคล่องในภาวะวิกฤติ รวมทั้งกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ