สงครามนิวเคลียร์เศรษฐกิจ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สงครามนิวเคลียร์เศรษฐกิจ

Date Time: 15 มี.ค. 2565 06:58 น.

Summary

  • ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เขียนบทความเรื่อง “สงครามเศรษฐกิจกับรัสเซีย” ลงใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม เพื่อตอบคำถามที่คนสงสัย

Latest

เคาะมาตรการดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 7 หมื่นล้าน ปล่อยสินเชื่อสร้างอาชีพ-สร้างบ้าน

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เขียนบทความเรื่อง “สงครามเศรษฐกิจกับรัสเซีย” ลงใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม เพื่อตอบคำถามที่คนสงสัยว่า ทำไมสหรัฐฯและนาโตไม่ส่งกองทัพเข้าไปช่วยยูเครน ทำไมปล่อยให้รัสเซียบุกฝ่ายเดียว โดยระบุว่าคำตอบนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คุณไบเดน ได้ชี้แจงไว้ตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียประกาศส่งทหารเข้าไปในยูเครนว่า “เมื่อไหร่ที่ทหารสหรัฐฯยิงสู้กับทหารรัสเซีย สถานการณ์ก็พร้อมจะบานปลายยกระดับกลายเป็นสงครามระหว่าง 2 มหาอำนาจ และจะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้”

เมื่อวันศุกร์ ประธานาธิบดีไบเดน ได้ปราศรัยยํ้าอีกครั้งว่า “เราจะไม่สู้รบทำสงครามกับรัสเซียในยูเครน การสู้รบกันโดยตรงระหว่างนาโตกับรัสเซียคือสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามไม่ให้เกิดขึ้นมา”

ดร.กอบศักดิ์ ได้วิเคราะห์ในบทความ “สงครามเศรษฐกิจกับรัสเซีย” ว่า เมื่อสหรัฐฯและนาโตเลือกทางเดินที่จะไม่เข้าไปเผชิญหน้ากับรัสเซียตรงๆ สิ่งที่ทำได้คือ การออกมาตรการ Sanction ในรูปแบบต่างๆเพื่อกดดันรัสเซีย โดยอาศัยความเกี่ยวเนื่องของ ตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย และ โยงไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนรัสเซีย และ ความนิยมของคนรัสเซียในตัวของท่านประธานาธิบดีปูตินต่อไป และยังมองไปสู่อนาคตว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

เมื่อวันอาทิตย์ ดร.กอบศักดิ์ ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กอีกครั้ง โดยตั้งชื่อว่า “นิวเคลียร์เศรษฐกิจ” อาวุธใหม่ที่พัฒนาขึ้นระหว่างการทำสงครามกับรัสเซีย

ดร.กอบศักดิ์ ระบุว่า ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่งใน สงครามเศรษฐกิจกับรัสเซีย คือ การนำ “ระบบการค้าและระบบเงินของฝั่งโลกตะวันตก” มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามเศรษฐกิจ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในอดีตเวลาเกิดปัญหาขัดแย้งในพื้นที่ใดๆก็จะมีการนำนโยบาย Sanction มาใช้ เพื่อลงโทษประเทศที่ก่อปัญหา แต่สิ่งที่แตกต่างในรอบนี้คือ ระดับความเข้มข้นของนโยบาย เพียงไม่กี่สัปดาห์ รัสเซียได้กลายเป็นประเทศที่ถูก Sanction เยอะที่สุดของโลก ด้วยมาตรการกว่า 3,000 อย่าง จากประเทศหลักๆมากกว่า 40 ประเทศ

หลายมาตรการต้องบอกว่า เป็นมาตรการไม่ปกติ เช่น ยึดเงินสำรองระหว่างประเทศ สั่งไม่ให้ทำธุรกรรมการเงินด้วย ไม่ให้ระดมทุน ไม่ให้ใช้ระบบชำระเงิน ยึดสินทรัพย์ ไม่ซื้อสินค้า เร่ง Exit ออกจากธุรกิจและการลงทุนต่างๆ รวมไปถึง ห้ามใช้เทคโนโลยีทางการทหารและดิจิทัลที่สหรัฐฯและโลกตะวันตกพัฒนา ทั้งหมดนี้เป็นการนำ “ระบบการค้าและระบบการเงินของโลกตะวันตก” มาเป็นเครื่องมือในการ ทำสงครามเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ เพราะตลาดการค้าของโลกตะวันตกมีขนาดประมาณ 70% ของเศรษฐกิจโลก และเป็นระบบหลักที่ควบคุมการไหลเวียนของการเงินโลกมากกว่า 90% เท่ากับรัสเซียถูกปล่อยเกาะ ให้สู้ด้วยตัวเอง

ทั้งหมดเพื่อให้เกิด Financial System Meltdown ในรัสเซีย ผลที่ตามมา ค่าเงินรัสเซียอ่อนลงไปครึ่ง จาก 70 เป็น 130 รูเบิล/ ดอลลาร์ คนรัสเซียที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เงินหายไปอย่างน้อย 70–80% (จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถเปิดตลาดหลักทรัพย์ได้) ธนาคารถูกแห่ถอนเงิน บริษัทหลายแห่งกำลังมีปัญหา สินทรัพย์ ETF ที่เกี่ยวกับรัสเซียถูกระงับการซื้อขาย พันธบัตรรัสเซียถูกลดอันดับเป็น Junk Bonds และต่อไปคงผิดการชำระหนี้ ล่าสุดกำลังไปถึง การประกาศห้ามไม่ให้ค้าขายทองคำกับรัสเซีย ซึ่งรัสเซียสะสมไว้มากกว่าแสนล้านดอลลาร์

ดร.กอบศักดิ์ เตือนว่า สงครามเศรษฐกิจกับรัสเซียจะยาวนานกว่าที่ทุกคนคิด ผลกระทบต่อนํ้ามันและโภคภัณฑ์ก็ยาวนานกว่าที่คิด เราคงต้องเตรียมรับผลกระทบที่ยาวนานเช่นกัน ทุกคนจะได้รับผลกระทบจากสงครามนี้ แต่ถ้าต้อนเขาให้ “จนมุมเกินไป” ก็อาจเกิดสิ่งที่เกินคาดคิดได้เช่นกัน ผมหวังว่าจะไม่เกิด “สงครามนิวเคลียร์” ตามมา?

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ