ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าปี 65 รุกธุรกิจรายย่อย รายใหญ่ และ Treasury and Markets ภายใต้กลยุทธ์ Forward23+
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 65 นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในปี 65 นี้ธนาคารจะก้าวเป็น ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Forward23+
โดยธนาคารจะปรับโครงสร้างพอร์ตโฟลิโอ ปรับประสิทธิภาพการใช้ต้นทุน กระจายความเสี่ยงของเงินฝาก บริหารจัดการความเสี่ยงเข้มข้น เพิ่มทักษะของคนทำงาน เพิ่มมูลค่าให้คนด้วยทักษะดิจิทัล และต้องทำธุรกิจบนพื้นฐานแห่งความยั่งยืน ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ จะขับเคลื่อนให้เติบโตโดยธุรกิจ 3 แกนหลัก ดังนี้
1. ธุรกิจรายย่อย หรือ Consumer Banking โดยเราจะใช้ดิจิทัล และการใช้ฐานข้อมูลจะมีบทบาทหลักที่ช่วยขยายการเข้าถึงและขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น ธนาคารได้พิสูจน์มาแล้วโดยให้ลูกค้าและผู้ใช้แอป CIMB THAI Digital Banking ได้สัมผัสประสบการณ์ digital banking ผ่านบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สปีดดี และสปีดดี พลัส ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะสด ใหม่ และตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย
นอกจากนี้ ธนาคารปักธงจะเป็นผู้นำตลาดธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘Wealth Credit Line’ และการจองซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรผ่านแอปมือถือเมื่อปี 2564 เพื่อขยายโอกาสและทางเลือกในการลงทุนแบบเปิดกว้างให้ลูกค้า จากการเปิดให้ลูกค้าจองซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรตลาดแรกผ่าน CIMB THAI Digital Banking
โดยลูกค้าให้การตอบรับดีเกินคาด ธุรกรรมเติบโตรวดเร็ว สะท้อนความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อ digital wealth platform ที่ธนาคารสร้างขึ้น จึงได้เดินหน้าเพิ่มบริการจองซื้อหุ้นกู้ตลาดรองเข้ามาเพิ่มเติมในแอป CIMB THAI Digital Banking ยิ่งช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้ามีต่อเนื่อง หัวใจสำคัญที่ต้องทำงานคู่กันกับ digital wealth platform คือ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาการลงทุน และ relationship manager ที่เข้าใจความต้องการของลูกค้า
ขณะเดียวกันการจัดหาแหล่งเงินทุนให้ลูกค้ารายย่อยเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารจะขยับการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรีไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ประสบความสำเร็จจากการเป็นหนึ่งในตัวเลือกหลักที่ลูกค้านึกถึง
ก้าวถัดไปคือขยับเข้าดิจิทัล ขณะที่สินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้บริการโดยบริษัทลูก ได้แก่ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ และบริษัท เวิลด์ลีส ตามลำดับ จะประสานพลังการทำงานระหว่างกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรและคู่ค้า ตลอดจนใช้ประโยชน์จากดิจิทัลมากขึ้น
2. ธุรกิจรายใหญ่ หรือ Wholesale Banking ธนาคารจะเดินหน้าสนับสนุนลูกค้ารายใหญ่ ด้วยการเพิ่มคุณค่าให้บริการทางการเงิน ในระยะยาว อย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายแข็งแกร่งในอาเซียนของกลุ่มซีไอเอ็มบี
การที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นำอาเซียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ ยิ่งทำให้ธนาคารสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนได้แข็งแรงขึ้น ค้นหาพันธมิตรรายใหม่ ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกกว้างขึ้นของแหล่งทุน และเปิดโอกาสขยายธุรกิจเติบโตตลาดต่างประเทศ
3. ธุรกิจบริหารเงิน หรือ Treasury and Markets ธนาคารจะรักษาสถานะผู้นำตลาดของการเป็นผู้ออกผลิตภัณฑ์และผู้จัดจำหน่าย โดยปี 2564 Treasury ของธนาคารเป็นผู้เล่นหลักในการกำหนดตลาดและเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR หรือ Thai Overnight Repurchase Rate และได้รับรางวัล THOR Pioneer จากธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยในปี 65 ธนาคารจะขยายธุรกิจ Treasury เติบโตต่อเนื่องทั้งกลุ่มลูกค้า wealth รายย่อย และกลุ่มลูกค้า wealth รายใหญ่ โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยขยายธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการจัดจำหน่าย และปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ธนาคารจะเพิ่มเติมรายได้ใหม่ๆ อาทิ รายได้อัตราแลกเปลี่ยนจากการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดน และบริการคัสโตเดียน