นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นขยายกรอบการก่อหนี้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ที่กำหนดกรอบหนี้รวมไว้ไม่เกิน 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะต้องพิจารณาว่ายังมีช่องว่างตามกรอบงบประมาณ เหลือมากน้อยเพียงใด เพราะมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ มีการใช้จ่ายแต่ละโครงการเป็นอย่างไร มีเงินเหลือมากน้อย ที่ต้องนำเงินที่เหลือส่งคืน เมื่อสามารถนำเงินส่งคืนได้ ก็จะทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียน ทำให้วงเงินตามกรอบก่อหนี้ลดลง จึงต้องขอดูส่วนนี้ก่อน
“ยังตอบไม่ได้ว่าจะขยายกรอบการก่อหนี้หรือไม่ เพราะต้องไปดูก่อน เช่น โครงการที่อนุมัติไปในปีเพาะปลูก 63/64 ขณะนั้นราคาดี การชดเชยน้อย วงเงินที่ขอไปอาจไม่ได้ใช้ เมื่อปิดโครงการต้องส่งเงินคืน และอนาคตหากสถานการณ์ราคาข้าวดีขึ้น ช่องว่างการชดเชยส่วนต่างราคาก็จะลดลง วงเงินที่ขออนุมัติมาจะตั้งไว้ที่การชดเชยสูงสุด ดังนั้นปีที่แล้วราคายางดี ราคาปาล์มดี ทำให้กรอบวงเงินที่ขอไว้ใช้ไม่หมด ทำให้มีส่วนต่างคืนกลับมา”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องมียอดหนี้คงค้างรวมกันได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยปีงบ 2565 รัฐบาลจะต้องมีหนี้สะสมไม่เกิน 930,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้มียอดหนี้สะสมรวมกันใกล้แตะเพดานดังกล่าวแล้ว.