ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังวันที่ 22 ก.ย.64 ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้สร้างความฮือฮา ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยจัดตั้งบริษัท Holding SCBX และโอนย้ายธุรกิจจาก SCB ให้อยู่ภายใต้ SCBX จำนวน 9 บริษัท คือ Card X, SCB Securities, SCB 10x, SCB ABACUS, MONIX, Purple Ventures, Digital Ventures, SCB Tech X, Token X และจัดตั้งบริษัทใหม่อีก 5 บริษัท คือ Auto X, Alpha X, CPG-SCB VC Fund, AISCB JV, Data X พุ่งเป้าพัฒนาองค์กรให้อยู่ในรูปแบบ Financial Technology ซึ่งได้การตอบรับในเชิงบวกจากแวดวงตลาดเงินตลาดทุน ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาหนาแน่นดันราคาหุ้น SCB ปรับตัวขึ้นร้อนแรง ล่าสุด SCB ปิดที่ 130 บาท บวก 20.50 บาท ดันราคาหุ้นแบงก์ใหญ่ปรับขึ้นยกแผง และกดดันหุ้น Non-bank ร่วงแรง
โดยมุมมองนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ขานรับเชิงบวก บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า การเปลี่ยนธุรกิจใหม่เป็น Holding company และการรุกธุรกิจ digital ที่เป็น trend อนาคต จะทำให้ SCB ได้เปรียบคู่แข่งมาก และสามารถขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้นเพราะบางธุรกิจอย่าง Auto cash ที่ไม่ต้องขึ้นกับกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมุมมองเป็นบวกจากเป้าหมายการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้าที่ท้าทายมาก คือ มีมูลค่ามาร์เกตแคป (Market cap) อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ปัจจุบัน 370,000 แสนล้านบาท และ ROE อยู่ที่ 15-20% รวมถึงกำไรจะเติบโตได้ถึง 1.5 เท่า ขณะที่ระยะสั้นยังได้ปัจจัยบวกจากเงินปันผลพิเศษระหว่างกาลที่จะจ่ายปี 65 โดยคาดไว้ที่ 3 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ยังคงประมาณการกำไรปี 64 อยู่ที่ 35,000 ล้านบาท เพิ่ม 28% จากปีก่อน ส่วนราคาหุ้นจะ outperform ต่อจากการเป็นธนาคารที่เข้าสู่ digital อย่างเต็มรูปแบบรายแรก และจะโดน disrupt น้อยที่สุด โดยจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เร็วที่สุด ด้าน บล.โกลเบล็กชี้ว่า มีมุมมองบวกต่อดีลนี้ในการกำจัดจุดอ่อนเรื่อง bank disruption และเดินหน้าต่อธุรกิจในยุคเทคโนโลยีการเงิน ที่ธนาคารสามารถเข้าถึงผู้บริโภครายย่อยด้วยเครือข่ายพันธมิตร
ขณะที่ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ชี้ว่ามองเชิงบวกต่อ SCB ไม่ใช่ตัวเลขกำไร แต่คือการปรับตัวที่สอดคล้องกับการแข่งขันและเร็วกว่าธนาคารอื่น รวมถึงรูปแบบการทำงานตั้งเป้าหมายแบบสตาร์ตอัพ ที่จะทำให้การทำงานมีความคล่องตัว ซึ่งจะทำให้ SCB เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าธนาคารอื่นที่ยังไม่ปรับตัว.