ธนาคารแห่งประเทศไทยห่วงลูกหนี้ผ่อนต่อไม่ไหว เอ็นพีแอลส่อพุ่ง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธนาคารแห่งประเทศไทยห่วงลูกหนี้ผ่อนต่อไม่ไหว เอ็นพีแอลส่อพุ่ง

Date Time: 24 ส.ค. 2564 07:05 น.

Summary

  • ธปท.เผยยอดสินเชื่อไตรมาส 2 ชะลอลงตามล็อกดาวน์ และการระบาดของโควิด–19 ห่วงลูกหนี้รายย่อยผ่อนต่อไม่ไหว หลังพบก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันพุ่ง

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ธปท.เผยยอดสินเชื่อไตรมาส 2 ชะลอลงตามล็อกดาวน์ และการระบาดของโควิด-19ห่วงลูกหนี้รายย่อยผ่อนต่อไม่ไหว หลังพบก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันพุ่ง ขณะที่หนี้เอ็นพีแอล ส่อเพิ่มขึ้นแต่ไม่แรง เหตุมีมาตรการแก้หนี้ช่วยอยู่ พร้อมยันไม่ได้สั่งแบงก์ “แฮร์คัต” หนี้ทุกราย

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปีนี้ ว่า ธปท.พบความเปราะบางของสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น ทั้งจากการกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง และยังพบว่า มีลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ลดลงไปแล้วในช่วงที่การระบาดลดลง ขณะที่การขอสินเชื่อภาคธุรกิจรายใหญ่ชะลอตัวลง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทิศทางที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อ และฐานะที่เสื่อมลงของลูกหนี้

ทั้งนี้ ไตรมาส 2 ปี 64 ระบบธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.7% ลดลงจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 3.8% เพราะการปล่อยสินเชื่อธุรกิจลดลง เหลือขยายตัวเพียง 2.6% หลังจากที่ระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ปี หรือตั้งแต่ไตรมาสแรก ปี 59 โดยขยายตัว 0.7% ส่วนหนึ่งมาจากผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) และสินเชื่อฟื้นฟู

“สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 5.7% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.3% จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบที่ยังเพิ่มขึ้น ขณะที่การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อส่วนบุคคล มาจากความต้องการกู้เงินมาดำรงชีพของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ด้านสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิต ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก่อนการล็อกดาวน์”

น.ส.สุวรรณี กล่าวต่อถึงยอดคงค้างเอ็นพีแอลว่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 545,500 ล้านบาท คิดเป็น 3.09% ต่อสินเชื่อรวม โดยเอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น ทำให้เห็นถึงความเปราะบางของสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ของประชาชน ที่ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 อีกทั้งเดือน มิ.ย.มีลูกหนี้ ขอรับความช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค.63 โดยเดือน มิ.ย.64 มียอดคงค้างที่ขอรับความช่วยเหลือ 3.28 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 77,000 ล้านบาท

“น่าจะเห็นเอ็นพีแอลในช่วงต่อไปทยอยเพิ่มขึ้น ตามฐานะการเงินของลูกหนี้บางกลุ่มที่เสื่อมลงจากการแพร่ระบาดที่ลากยาว แต่ไม่ได้มีจำนวนพุ่งขึ้นอย่างที่เป็นห่วง ขณะเดียวกัน จะเห็นแนวโน้มการขอรับความช่วยเหลือปรับโครงสร้างจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค. และเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งยังมีการล็อกดาวน์อยู่”

สำหรับกรณีที่สมาคมธนาคารไทยส่งหนังสือมายัง ธปท. เพื่อคัดค้านการบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ ลดต้นเงิน หรือดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ (แฮร์คัต) นั้น น.ส.สุวรรณีกล่าวว่า น่าจะเป็นความตกใจ และเข้าใจผิดของธนาคารพาณิชย์ เกี่ยวกับการจัดทำแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ที่ ธปท.จะออกมาต้นเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งย้ำกับธนาคารพาณิชย์มาตลอดว่า การปรับโครงสร้างหนี้ ต้องทำแบบระยะยาว เพื่อให้จบจริง และลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ได้จริง ไม่ใช่การพักหนี้ หรือยืดเวลาชำระหนี้ไปเรื่อยๆ โดยการแฮร์คัต เป็นเครื่องมือหนึ่งในการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว แต่ไม่ได้หมายความว่า ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียทุกรายจะได้รับการลดหนี้ เพราะไม่เช่นนั้น อาจเป็นการส่งเสริมให้คนไม่ผ่อนส่งหนี้ เพื่อให้เป็นหนี้เสีย และได้รับการลดหนี้ซึ่งไม่ถูกต้อง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ