รับมือ “ลดคุ้มครองเงินฝาก” อย่างสบายใจ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รับมือ “ลดคุ้มครองเงินฝาก” อย่างสบายใจ

Date Time: 17 ส.ค. 2564 05:05 น.

Summary

  • สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ได้ประกาศปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก ลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน จากเดิมที่เคยคุ้มครองในวงเงิน 5 ล้านบาทต่อราย

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ได้ประกาศปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก ลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน จากเดิมที่เคยคุ้มครองในวงเงิน 5 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเกิดความกังวล เพราะช่วงนี้เป็นช่วงล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การติดต่อแก้ไขอะไรต่างๆกับธนาคารพาณิชย์ยากลำบากมากขึ้น

ขณะเดียวกัน คนอีกส่วนอาจยังไม่เข้าใจกระบวนการคุ้มครองเงินฝากอย่างชัดเจนว่าใครบ้างที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก และหากเรามีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท เงินที่เหลือเราจะสูญหรือไม่ มาหาคำตอบกันว่า การคุ้มครองเงินฝากคืออะไร และการลดวงเงินคุ้มครองครั้งนี้ กระทบต่อผู้ฝากเงินมากน้อยเพียงไร

“การคุ้มครองเงินฝาก” เป็นการรับประกันว่า “ผู้ฝากเงิน” กับสถาบันการเงินสมาชิกของ สคฝ.จะได้รับเงินฝากใน 5 ประเภทบัญชี คือ เงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงินคืนเต็มจำนวนที่คุ้มครอง ภายในระยะเวลา 30 วันนับจากวันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจากทางการ

หมายความว่า ผู้ฝากเงินจะมีเงินฝากกี่บัญชีก็ได้ ใน 1 ธนาคาร เช่น มีเงินฝากในธนาคาร ก. 3 บัญชี หากทั้ง 3 บัญชี รวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้รับคุ้มครองเต็มจำนวนตามเงินฝากที่มีอยู่จริง แต่หากเงินฝากรวมทุกบัญชีเกิน 1 ล้านบาทจะได้รับความคุ้มครอง 1 ล้านบาท ขณะที่เงินฝากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทไม่ได้รับความคุ้มครอง ขณะเดียวกัน หากผู้ฝากรายเดิม มีบัญชีเงินฝากอยู่ในธนาคารอื่นๆ อีก เช่น ธนาคาร ข. หรือ ธนาคาร ค. ก็จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกัน คือ ได้รับการคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมกันทุกบัญชีต่อ 1 ธนาคาร

แต่ไม่ต้องกังวลว่า เงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาทจะไม่ได้คืน หรือสูญไป เพราะเงินจำนวนดังกล่าวจะถือเป็น “หนี้สิน” ของธนาคาร ผู้ฝากจะได้รับสิทธิ์รับคืนเงินในฐานะ “เจ้าหนี้” แต่ต้องรอการชำระบัญชีเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของ สคฝ.ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 19 แห่ง สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 11 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง ในขณะที่ธนาคารรัฐทั้ง 6 แห่งนั้น แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิก สคฝ.แต่ผู้ฝากเงินกับธนาคารรัฐไม่ต้องตกใจ เพราะตามกฎหมายการจัดตั้งธนาคารรัฐ เงินฝากจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลเต็มจำนวนในทุกบัญชีอยู่แล้ว

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า หากมีธนาคารใด มีฐานะการเงินอ่อนแอ และมีโอกาสที่จะกระทบต่อเงินฝากประชาชน สคฝ.มีสิทธิที่จะเสนอ และร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งให้ปรับปรุงฐานะการเงิน หรือเพิ่มทุน และหากแก้ไขไม่ได้มีปัญหาจนต้องถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต สคฝ.จะทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี

ในเบื้องต้น ผู้ฝากเงินกับธนาคารดังกล่าวจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากทันทีโดยไม่ต้องยื่นคำร้อง คือไม่เกิน 1 ล้านบาท โดย สคฝ.จะโอนเงินคืนอัตโนมัติภายใน 30 วัน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ ส่วนเงินฝากที่เกินกว่า 1 ล้านบาท จะอยู่ในขั้นตอนของการชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ สคฝ.จะนำเงินที่ได้จากการชำระบัญชีคืนให้กับเจ้าหนี้ตามลำดับ คือ เจ้าหนี้ทางภาษี เจ้าหนี้แรงงาน หรือพนักงานธนาคาร ถัดลงมาจะเป็นผู้ฝากเงิน จากนั้น เป็นเจ้าหนี้กรณีอื่นๆ

ทั้งนี้ จากข้อมูลบัญชีเงินฝากของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด ณ วันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา มีบัญชีเงินฝากทุกประเภทรวมกันทั้งสิ้น 109.4 ล้านบัญชี เป็นบัญชีที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทั้งสิ้น 107.56 ล้านบัญชี เป็นบัญชีที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี 1.84 ล้านบัญชี

แสดงให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่มีเงินฝาก 1 บัญชี จะไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่มีเงินฝากบัญชีเดียว และเมื่อหลายบัญชีรวมกันเกิน 1 ล้านบาท ทำให้มีคำถามว่า เราควรจะแยกฝากเงินย่อยๆแห่งละ 1 ล้านบาทดีหรือไม่ หรือควรย้ายไปฝากแบงก์รัฐที่ได้รับประกันเต็มจำนวนดี

คำตอบคือ ทำได้ แต่จะมีความยุ่งยากในการดูแลและมีต้นทุนรักษาบัญชีที่สูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นการตัดหรือลดโอกาสได้รับผลตอบแทนจากเงินฝากในอัตราที่สูง ทางที่ดีที่สุด ผู้ฝากเงินควรติดตามฐานะการเงิน และการดำเนินการของสถาบันการเงินที่เราฝากเงินว่าขาดทุนกำไรอย่างไร ขาดทุนต่อเนื่องหลายปีหรือไม่ มีกรณีที่ ธปท.สั่งให้ดูแลฐานะหรือไม่ เพราะกรณีเหล่านี้เป็น “สัญญาณอันตราย”ที่ต้องจับตา แต่หากยังมีความเข้มแข็ง ก็ไม่จำเป็นต้องแยกเงินฝากเป็นจำนวนย่อยๆ แต่อาจจะเลือกฝากแบงก์ที่เข้มแข็งสัก 1-2 ธนาคารก็เพียงพอ

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ยืนยันมาตลอดว่า สถาบันการเงินในไทยมีความเข้มแข็งมาก มีฐานะการเงินที่ดี และยังไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แค่เราต้องไม่ประมาท และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

เพียงเท่านี้ ก็น่าจะช่วยให้ผู้ฝากเงินสบายใจได้ว่า เงินที่เราฝากไว้ “ปลอดภัย” แน่นอน.

ประอร นพคุณ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ