จี้แบงก์รัฐลดดอกเบี้ยเหลือ 0% คลังใจร้อนแก้หนี้สัปดาห์นี้จ่อออกมาตรการ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จี้แบงก์รัฐลดดอกเบี้ยเหลือ 0% คลังใจร้อนแก้หนี้สัปดาห์นี้จ่อออกมาตรการ

Date Time: 23 มิ.ย. 2564 08:46 น.

Summary

  • “คลัง” หารือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พิจารณาลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษเหลือ 0% ถึงสิ้นปีช่วยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เพิ่มเติม โดยให้จัดทำแนวทางช่วยลูกหนี้ส่งให้พิจารณาในสัปดาห์นี้

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

“คลัง” หารือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พิจารณาลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษเหลือ 0% ถึงสิ้นปีช่วยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เพิ่มเติม โดยให้จัดทำแนวทางช่วยลูกหนี้ส่งให้พิจารณาในสัปดาห์นี้ ประกาศลดดอกเบี้ยพิโกไฟแนนซ์-นาโนไฟแนนซ์ เหลือ 28% เตรียมเงินใน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านช่วยเอสเอ็มอี ด้านออมสิน เด้งรับนโยบายคลังเปิดตัวรายแรก “พักเงินต้น-พักดอกเบี้ย” ยาว 6 เดือน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้หารือสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ครัวเรือนคนไทย ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง ได้สั่งการให้สถาบันการเงินของรัฐพิจารณาช่วยประชาชน โดยพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือ 0% ไปจนถึงปลายปีนี้ สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐ จะต้องจัดทำแนวทางเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ แล้วนำมาเสนอกระทรวงการคลังภายในสัปดาห์นี้ เพื่อประกาศเป็นมาตรการช่วยเหลือต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสถาบันการเงินของรัฐ มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่หลากหลายตามความต้องการของประชาชน ทั้งพักชำระดอกเบี้ย พักชำระเงินต้น รวมทั้งการยืดระยะเวลาการชำระออกไป อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีมาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยเหลือต้องดำเนินการต่อ เพื่อให้ทุกฝ่ายก้าวผ่านวิกฤติโควิดนี้ไปด้วยกัน โดยการช่วยเหลือนั้น จะไม่กระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินของรัฐแต่อย่างใด เนื่องจากสถานะการเงินยังแข็งแกร่ง

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า กระทรวงการคลังยังได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยให้ในส่วนพิโกไฟแนนซ์ พลัส เหลือ 28% จากเดิม 36% ส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 28% เช่นเดียวกัน เพื่อลดภาระประชาชนในช่วงที่โควิด-19 ส่วนแนวทางยกเลิกเครดิตบูโร เพื่อให้อนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากเครดิตบูโรสามารถช่วยในการคัดกรองลูกหนี้ได้ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้บังคับว่าธนาคารต้องใช้ ซึ่งการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท ของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ไม่ได้ใช้ข้อมูลเครดิตบูโร

“คลังยืนยันว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือทุกภาคส่วน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งได้เสนอขอใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติมวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ส่วนข้อเสนอเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่งจากเดิม 3,000 บาท เพิ่มเป็น 6,000 บาท จะหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อีกครั้ง ว่าจะบริหารงบประมาณช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างไร และจะเหลือวงเงินเพื่อนำมาเพิ่มวงเงินให้โครงการคนละครึ่งได้หรือไม่”

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้ออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธุรกิจโรงแรมและที่พัก รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ซึ่งประสบภาวะยากลำบาก ขาดรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจ และไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยให้มาติดต่อเพื่อขอยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถประคับประคองธุรกิจจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดจะคลี่คลาย และกิจการกลับมามีรายได้อีกครั้ง

“มาตรการยกเว้นชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้เงินงวดเป็นศูนย์ 6 เดือน มีผลตั้งแต่งวดเดือน ก.ค.-ธ.ค. 64 โดยให้สิทธิ์แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 250 ล้านบาท มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ที่สาขาธนาคารออมสิน หรือศูนย์สินเชื่อธุรกิจลูกค้า SMEs ตั้งแต่วันนี้-23 ก.ค.นี้เท่านั้น”

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนลูกค้าไปจนถึงสิ้นปี 2564 เช่น ลดเงินงวดผ่อนชำระเหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดที่ผ่อนชำระในปัจจุบัน ซึ่งเงินงวดที่ผ่อนชำระจะนำไปตัดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการพักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เป็นต้น โดยการช่วยเหลือในครั้งนี้จะครอบคลุมทั้งลูกค้าของ ธอส. รวมถึงลูกค้าที่ยังไม่เคยเข้าร่วมมาตรการของธนาคาร

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางช่วยเหลือลูกค้าเกษตรกรเพิ่มเติม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ช่วยเหลือลูกค้าไปจนถึงเดือน มี.ค.65 ตามสิ้นปีบัญชีการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. เพราะปัจจุบัน ธ.ก.ส.ก็ยังดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าอยู่แล้ว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ